อุทยานวิทยาศาสตร์ ม.อ.จับมือ สยามอะโกรวิลล์ พัฒนานวัตกรรมฟาร์มโซลูชั่น
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป, การศึกษา,
โฟสเมื่อ : 3 ส.ค. 2566, 16:16 น. อ่าน : 633 สงขลา -
อุทยานวิทยาศาสตร์ ม.อ. จับมือ สยามอะโกรวิลล์
บริษัทร่วมทุนไทย-มาเลเซีย พัฒนานวัตกรรมฟาร์มโซลูชั่น
ขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยปลอดภัยอย่างยั่งยืน ภายใต้โมเดล BCG
อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ บริษัท สยามอะโกรวิลล์ จำกัด
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การดำเนินกิจกรรมวิจัยและพัฒนาการทำเกษตรแบบแม่นยำ”
ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ จ.สงขลา โดยมี
ผศ.คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ คุณวัชรินทร์
วิทยวีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามอะโกรวิลล์
จำกัด ร่วมลงนาม ได้รับเกียรติจาก คุณสุณีย์ เลิศเพียรธรรม
หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
กล่าวแสดงความยินดี เพื่อศึกษาวิจัยต่อยอดเทคโนโลยีการจัดการเกษตรสมัยใหม่และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตร
เพื่อตอบสนองโอกาสทางธุรกิจด้วยความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private
Partnership) ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมเกษตรปลอดภัยและยั่งยืนในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้
ยังมีการลงนามความร่วมมือระหว่าง บริษัท สยามอะโกรวิลล์ จำกัด กับ บริษัท
แพลนท์คาร์ทิจด์ จำกัด และ บริษัท แคลทิเวียท จำกัด จากประเทศมาเลเซีย
โดย คุณวัชรินทร์ วิทยวีรศักดิ์ CEO, Siam Agroville (Thailand) พร้อมด้วย Mr.John-Hans Oei, CEO, Cultiveat (Malaysia) และ Mr.Channing Liang, CEO, Plant Cartridge (Malaysia) ร่วมลงนาม
สำหรับการผนึกกำลังระหว่าง บริษัท สยามอะโกรวิลล์ จำกัด อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการพัฒนาองค์ความรู้การประยุกต์ใช้ฟาร์มโซลูชั่นกับพืชอาหารและพืชสมุนไพรท้องถิ่นของประเทศไทย การวิจัยต่อยอดเทคโนโลยีด้านการจัดการเกษตรสมัยใหม่และการยกระดับศักยภาพพื้นที่ด้วยนวัตกรรมการผลิตสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อาทิ การปลูกผักสั่งตัด การปลูกพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพให้สาระสำคัญสูง เป็นต้น โดย บริษัท สยามอะโกรวิลล์ จำกัด จะสร้างระบบฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ด้วยเม็ดเงินลงทุนมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นพื้นที่แปลงสาธิตและวิจัยพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ บนพื้นที่กว่า 2.5 ไร่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ นอกจากนี้ ฟาร์มดังกล่าวถือได้ว่าเป็นฟาร์มแห่งแรกในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับการออกแบบให้สามารถทำการเกษตรแบบแม่นยำด้วยนวัตกรรมจากทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท ควบคู่กับการใช้พลังงานสะอาด สอดรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย
ทั้งนี้ เชื่อว่าแนวทางเกษตรปลอดภัยและยั่งยืนนี้จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำเศรษฐกิจเอเชียภายใต้โมเดล BCG (Bio-Circular-Green Economy) ในที่สุด.