เชฟรอน - SEAMEO STEM-ED - กระทรวงศึกษาธิการ ผนึกกำลัง ยกระดับสะเต็มศึกษาของชาติ
หมวดหมู่ : ทั่วไป, การศึกษา, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 15 มี.ค. 2566, 16:10 น. อ่าน : 700กรุงเทพฯ - เชฟรอน - SEAMEO STEM-ED - กระทรวงศึกษาธิการ ผนึกกำลัง มุ่งขยายผลโครงการ Chevron Enjoy Science ยกระดับสะเต็มศึกษาของชาติ ใน Southeast Asian STEM Education Fair and Exposition 2023
หากพูดถึงโครงการพัฒนาการเรียนรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม
อย่างเต็มรูปแบบและเห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย โครงการ “Chevron
Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ริเริ่มโดย บริษัท
เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ถือเป็นต้นแบบของโครงการ ‘รัฐร่วมเอกชน’
ที่มุ่งยกระดับขีดความสามารถของประเทศผ่านสะเต็มศึกษา ภายใต้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า
1,120 ล้านบาท
พร้อมเป้าหมายในการสร้างรากฐานสำคัญเพื่อพัฒนานวัตกรรมและศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน
ซึ่งในปีนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่เชฟรอนและพันธมิตรได้พาโครงการฯ สำเร็จลุล่วงมาตลอด
8 ปี โดยภายในงาน Southeast Asian STEM Education Fair and Exposition 2023 ที่ SEAMEO STEM-ED ได้จัดขึ้นด้วยการสนับสนุนหลักจากเชฟรอน
ถือเป็นเวทีสรุปผลความสำเร็จสำคัญของโครงการฯ พร้อมเปิดแนวทางสานต่อสะเต็มศึกษาทั้งระดับประเทศและภูมิภาคให้ก้าวเดินต่อไป
โดยภายในงาน มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้พัฒนาหลักสูตรการศึกษา พันธมิตรหลากหลายภาคส่วน และเยาวชนจากทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายชาทิตย์
ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
กล่าวว่า “ตั้งแต่ริเริ่ม โครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’
เมื่อปี 2558 และทำอย่างต่อเนื่องถึง 8 ปี
เพราะมีความตั้งใจจริงที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ดีของสังคมผ่านการทำโครงการระยะยาวร่วมกับพันธมิตรที่มีเจตนารมณ์ร่วมกัน
ด้วยวัฒนธรรมที่เชื่อมั่นใน ‘พลังคน’
เราจึงมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรผ่านการปฏิรูปและยกระดับการศึกษา”
“สำหรับโครงการ “Chevron
Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ได้แบ่งการดำเนินโครงการเป็นสองระยะ
โดยระยะที่ 1 ในช่วง 5 ปีแรกของโครงการฯ
ได้เน้นการปรับใช้โมเดลสะเต็มศึกษาที่สำเร็จในต่างประเทศมาพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งในและนอกห้องเรียนทั้งสายสามัญและอาชีวศึกษา
และขยายผลสู่การดำเนินงานในระยะที่ 2 โดย ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(ศูนย์ SEAMEO STEM-ED) โดยมุ่งเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรภาครัฐและผู้เกี่ยวข้อง
สู่การสร้างความยั่งยืนในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งตลอดทั้งโครงการฯ
ได้บรรลุผลสำเร็จในการบูรณาการสะเต็มศึกษากว่า 835 โรงเรียน
รวมถึงมีผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการฯ กว่า 3,300,000 คน”
โดยโมเดลและผลสำเร็จต่างๆ ของโครงการฯ ศูนย์ SEAMEO STEM-ED จะนำไปเผยแพร่และนำเสนอให้กับผู้กำหนดนโยบายในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค อีกทั้งจะระดมทรัพยากรจากทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสานต่อโมเดลสะเต็มศึกษาอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้าน คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขับเคลื่อนนโยบายการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในสถานศึกษาพร้อมทั้งติดตาม ประเมินความก้าวหน้าและความสำเร็จในการปฏิบัติงาน รวมถึงพัฒนาหลักสูตรสะเต็มศึกษาครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศ พร้อมเพิ่มศักยภาพครูยุคใหม่ โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการเรียนการสอน CODING ของประเทศไทยในทุกระดับ รวมถึงการเรียนการสอนแบบ ‘Unplugged Coding’ ในลักษณะการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาศักยภาพคนไทยทุกช่วงวัย การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ ยังได้กล่าวย้ำความสำคัญของการบูรณาการ ‘ศาสตร์และศิลป์แห่งชีวิต’ (Arts of Life) ‘ศิลปะในการดำรงชีวิต (Arts of Living)’ และ ‘ศิลปะการทำงานร่วมกัน (Arts of working together)’ ไว้ในการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษา (STEM) สู่การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานในลักษณะที่เรียกว่า STEAM เพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นด้านวัฒนธรรม คุณค่า และอัตลักษณ์ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีความหมาย มีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี บนพื้นฐานของคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นกุญแจและเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต”.