บุคลากร ม.อ.คว้า 2 รางวัลในงาน Thailand Kaizen Award 2020
หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, สงขลา, ทั่วไป, การศึกษา,
โฟสเมื่อ : 17 ก.พ. 2564, 08:00 น. อ่าน : 1,569 เมื่อวันที่ 15-17 ธันวาคม 2563 สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) จัดงาน Thailand
Kaizen Award 2020
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรได้มีการปรับปรุงกระบวนการทำงาน (Process
Improvement) ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่อง
เป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และต่อยอดความคิดสร้างสรรค์
เพื่อสร้างสังคมอุดมปัญญาและส่งเสริมให้เกิดการจดสิทธิบัตร รวมถึงเพื่อยกย่อง
เชิดชู องค์กรและบุคคลที่มีผลงานดีเด่น โดยในปีนี้ บุคลากรจากคณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับรางวัล Thailand Kaizen Award ประเภท Kaizen Suggestion System Award (KSS) จำนวน
2 รางวัล ได้แก่ รางวัลระดับ Golden Award คือ ผลงานเรื่อง
“อุปกรณ์กดห้ามเลือด” โดยนางสุภาภรณ์ มานีวัน
แผนกห้องรับบริจาคโลหิตหน่วยคลังเลือดและเวชศาสตร์บริการโลหิต
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และรางวัลระดับ Bronze Award คือ
ผลงานเรื่อง “ขาดเหลือ เกื้อกูลกัน” โดยนางเปรมจิต ทั่งตระกูล แผนกห้องปฏิบัติการ
หน่วยคลังเลือดและเวชศาสตร์บริการโลหิต โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
นางสุภาภรณ์ มานีวัน
กล่าวว่า การคิดค้นอุปกรณ์กดห้ามเลือด เกิดจากปัญหาที่ผู้บริจาค
เข้ามาบริจาคเกล็ดเลือด และมีเลือดออกหลังบริจาคเสร็จ
เนื่องจากบางครั้งผู้บริจาคไม่สะดวกกดห้ามเลือดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น
ตนและทีมงานจึงร่วมกันคิดวิธีการช่วยเหลือผู้บริจาคกลุ่มนี้
จนกลายเป็นอุปกรณ์กดห้ามเลือดชิ้นนี้ ซึ่งผลตอบรับจากผู้บริจาคดีมาก
เพราะสามารถป้องกันไม่ให้เลือดออก ผู้บริจาคสามารถไปทำกิจกรรมที่จำเป็นหรือไปเข้าห้องน้ำได้อย่างไม่กังวล
หรือกลัวว่าเลือดจะออก หลังจากใช้งานไประยะหนึ่ง จึงส่งผลงานชิ้นนี้เข้าประกวด Kaizen
ของสาขาวิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์
และหลังจากที่ได้รับคัดเลือกจากคณะแพทยศาสตร์ จึงได้ส่งผลงานเข้าประกวดในงาน Thailand
Kaizen Award 2020
ด้าน นางเปรมจิต
ทั่งตระกูล กล่าวถึงที่มาของผลงานเรื่อง “ขาดเหลือ เกื้อกูลกัน” ว่า
ด้วยหน่วยคลังเลือดมีหน้าที่ในการรับเลือดจากผู้บริจาค
เพื่อนำไปช่วยชีวิตผู้ป่วยในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และหากมีปริมาณเลือดที่มากพอ
(เกิน Safety
Stock) ยังสามารถแบ่งปันให้โรงพยาบาลอื่นได้ แต่ก่อนหน้านี้
ระบบการแบ่งปันเลือดจะอยู่ในรูปแบบของการโทรตรงไปยังแต่ละโรงพยาบาล
ซึ่งมีโอกาสน้อยที่จะได้รับเลือด หรือบางโรงพยาบาลมีเลือดมากในบางช่วง
และใช้ไม่ทัน ทำให้เลือดหมดอายุ ตนและคุณวรากร เพชรเกลี้ยง หัวหน้าหน่วยคลังเลือดและเวชศาสตร์บริการโลหิต
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
จึงมีแนวคิดนำระบบไลน์มาใช้ในการเชื่อมต่อเจ้าหน้าที่คลังเลือดของแต่ละโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน
โดยคุณวรากรได้เขียนโปรแกรมระบบการบริหารจัดการเลือดขึ้นมา
เพื่อรายงานจำนวนเลือดที่อยู่ในคลังเลือด พร้อมบอกรายละเอียดและใช้ AI ในการประมวลผลข้อมูลต่างๆ เช่น วันรับเข้า วันหมดอายุ จำนวนที่รับเข้า
จำนวนคงเหลือ รวมถึงพยากรณ์แนวโน้มภาวะของเลือดแบบ Real time ซึ่งตนได้ทำหน้าที่ในการประสานงานผ่านกลุ่มไลน์ดังกล่าว
เพื่อแจ้งให้ทราบว่าที่หน่วยคลังเลือดของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
มีเลือดที่เกินจำนวนสำรองอยู่เท่าไหร่ ซึ่งจำนวนนี้
หากโรงพยาบาลอื่นมีความจำเป็นต้องใช้สามารถขอรับได้ โดยวิธีการนี้
ทำให้เลือดที่ได้รับบริจาค สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากขึ้น ลดปริมาณเลือดหมดอายุได้เป็นอย่างดี
“รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ขอมอบให้กับบุคลากรทุกคนในหน่วยคลังเลือด โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ที่ร่วมแรงร่วมใจให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ ขอบคุณคณะกรรมการ Kaizen ที่ให้โอกาส คอยให้คำแนะนำ ขอบคุณผู้บริจาคโลหิตทุกท่านที่เป็นแรงบันดาลใจ และขอบคุณผู้บริหารทุกท่านที่ให้โอกาสในการทำงานจนเกิดการพัฒนาเช่นนี้” นางเปรมจิต และนางสุภาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย.