ม.อ.จัดตั้งสมัชชาพลิกโฉมอนาคต รองรับการเปลี่ยนแปลง
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 11 มี.ค. 2565, 10:49 น. อ่าน : 898สงขลา-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จัดตั้งสมัชชามหาวิทยาลัยฯ จับมือภาคีเครือข่ายเอกชน-ประชาสังคมพลิกโฉมมหาวิทยาลัยในอนาคต เพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงและยึดมั่นสร้างประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9-10 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสมัชชามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ “อนาคต ม.อ.” ที่ คอนเฟอเร้นท์ ฮอลล์ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมับติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยจัดประชุมผ่านระบบออนไลน์และถ่ายทอดสดผ่านเพจ @PSUconnext
ผศ.ดร.นิวิต แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ว่า เพื่อกำหนดอนาคตของมหาวิทยาลัยและสื่อสารกับประชาคมพร้อมกับการมองอนาคตร่วมกัน ช่วยกันกำหนดให้ชัดขึ้นว่าประเด็นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่มหาลัยควรจะทำภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงมีอะไรบ้าง
“สิ่งที่เราอยากฟังจากสมัชชาคือความเห็นที่อาจจะนอกเหนือไปจากนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่วางไว้ เพราะมุมมองจากผู้ปฏิบัติจริงจะทำให้เราได้มองได้รอบด้านมากขึ้น คาดหวังการมีส่วนร่วมจากประชาคม ม.อ. เพื่อร่วมกันมองว่าภายใต้ความเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป และโอกาสใหม่ๆที่ทำให้มหาลัยสามารถใช้ศักยภาพเพื่อพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ โดยการพัฒนาบุคลากรในรูปแบบใหม่ในการสร้างองค์ความรู้นวัตกรรม เขาอยากให้มหาลัยทำเรื่องอะไรบ้าง และอยากให้มหาลัยสนับสนุนในการทำงานของเขาอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นการทำสมัชชาก็เป็นการสื่อสารอีกทางนึง เป็นการรับข้อมูลจากทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายบริหารและก็ผู้ปฏิบัติในระดับบุคคล” ผศ.ดร.นิวิตกล่าว
ผศ.ดร.นิวิต กล่าวอีกว่า ความพร้อมของ ม.อ. ในการก้าวไปสู่เป้าหมายในอนาคต หรือการพลิกโฉมของมหาลัย มีการเตรียมการมาประมาณ 2-3 ปีแล้ว เพราะทราบดีถึงภาวะคุกคาม ผลกระทบต่างๆ ภายใต้ภาวะที่มีความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน ความไม่ชัดเจนทั้งหลาย ที่เราเรียกว่า VUCA (วูก้า หวือหวา ไม่แน่นอน ซับซ้อน) ซึ่งได้วิเคราะห์กันมาตลอด เพราะฉะนั้นจุดหนึ่งที่ต้องทำให้ชัด คือมหาวิทยาลัยยังมีประโยชน์ในเรื่องของความรู้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้ทั้งคนในระบบ และคนวัยทำงานรวมถึงผู้สูงวัยทุกช่วงวัย พัฒนาคนทุกช่วงวัย และการทำงานในการร่วมกับภาคีภาคส่วนต่างๆจะเป็นกลไก จะทำให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนผ่าน และผ่านภารกิจให้มีความชัดเจนตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
”ตอบสนองต่อพี่น้องประชาชนที่ต้องการความรู้ใหม่ๆ เพื่อไปสร้างอาชีพหรือทำอาชีพที่ทําอยู่ให้ดีขึ้น หรือแม้แต่การที่จะพัฒนากำลังคนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ให้เขามีโอกาสลดความเหลื่อมล้ำทั้งหลาย เพราะฉะนั้นคีเวิรค์พวกนี้มหาวิทยาลัยต้องเอามาประมวลแล้วออกแบบหลักสูตรต่างๆ ทั้งแบบให้เปล่าทั้งแบบที่สามารถสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยเอง เพื่อความยั่งยืนทางด้านการเงิน ซึ่งจะทำควบคู่กันไป”
ผศ.ดร.นิวิต กล่าวย้ำ
ผศ.ดร.นิวิต ยังกล่าวถึงความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า มีทั้ง 2 ส่วน ทั้งปัจจัยภายในจะเป็นเรื่องการปรับ Mindset (ความความคิด) วิธีคิด ทัศนคติของอาจารย์ที่ทำงาน อาจจะคุ้นชินกับงานวิชาการแต่การที่จะทำให้เกิด Impact (ผลกระทบ) ต่อสังคมได้ เราจะต้องปรับรูปแบบการทำงานและอาจจะเพิ่มงานใหม่ๆขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ต้องไปทำงานมากขึ้นในพื้น ที่เรียกว่าเป็นพันธกิจเพื่อสังคมอาจจะต้องเพิ่มมาก และเรื่องที่จะเน้นย้ำมากเป็นพิเศษก็คือ การสร้างประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตรงนี้ให้เขาได้คิดให้มากขึ้นว่ายังมีคนอีกจำนวนมากในขณะนี้ ที่ประสบความเดือดร้อนภายใต้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยต้องเป็นที่พึ่งได้ ทุกคนต้องช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งการสอนในระบบเดิมและการเพิ่มเติมงานใหม่ๆ ดูแลสังคมร่วมกันครับ อันนี้ถึงจะเป็นคุณค่าของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อย่างแท้จริง
อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวสรุปว่า สุดท้ายโอกาสของมหาวิทยาลัยฯ กับการตั้งเป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยในระดับโลกท่ามกลางวิกฤตต่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 หรือสถานการณ์โลกในขณะนี้นั้น จากภาวะคุกคามทั้งหลายเป็นโอกาสที่เปิดกว้าง วิกฤตเป็นโอกาสเสมอ ถ้าเรามีความพร้อม มีความคิดมีระบบการทำงานที่ดี เพราะว่าตรงนี้มันทำให้เกิดความต้องการใหม่ๆในทางวิชาการ ทางนวัตกรรมที่เอาไปใช้เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ก็ดี หรือเบื้องต้นการสร้างกำลังคนที่ต้องการความรู้ใหม่ๆ เราสามารถจะปรับได้ เพราะว่ามหาลัยฯก็มีอาจารย์รุ่นใหม่ๆทยอยเข้ามาไม่ได้อยู่นิ่ง เพราะฉะนั้นองค์ความรู้จะใหม่อยู่ตลอด ความต้องการของคนรุ่นใหม่ก็จะมีอาจารย์รุ่นใหม่ๆที่สามารถตอบสนองได้ เพราะฉะนั้นการปรับระบบงานของเราทำงานเป็นทีมย่อย แล้วสอดร้อยกันในแต่ละทีมจะทำให้เกิดพลังในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และช่วยทำให้สังคมเติบโตก้าวหน้าไปด้วยกันได้.