ซีพีเอฟ หนุน “ฟาร์มพอเพียง” สร้างรายได้เสริม เพิ่มเงินออมให้พนักงาน
หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 27 ก.ย. 2567, 19:13 น. อ่าน : 230กรุงเทพฯ - บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งส่งเสริมพนักงานสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน หนุนการอยู่ดีกินดี ดันโครงการ “ฟาร์มพอเพียง” สร้างรายได้จากอาชีพเสริมควบคู่อาชีพหลัก เน้นทำบัญชีครัวเรือน สร้างวินัยการเงิน พร้อมตั้งสหกรณ์ให้พนักงานในฟาร์มหมู มีเงินปันผลทุกปี ช่วยสร้างความสุขจากการไม่มีหนี้สินและมีเงินออม
นายสมพร เจิมพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างความสุขในการทำงานแก่พนักงาน โดยต้องดูแลพนักงานให้ดีที่สุด สายธุรกิจสุกร จึงริเริ่มดำเนิน โครงการ “ปลดหนี้ สร้างสุข และส่งเสริมการออม” มาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน พร้อมต่อยอดสู่โครงการ “ฟาร์มพอเพียง” ในฟาร์มสุกรของบริษัทรวม 100 ฟาร์ม ที่นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นต้นแบบสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการทำฟาร์มเกษตรผสมผสานไม่ใช้สารเคมี สร้างรายได้เสริมและส่งเสริมการออมเงินแก่พนักงาน ช่วยปลดภาระหนี้สินและยังมีเงินปันผลจากการร่วมหุ้นสหกรณ์ของพนักงาน ขณะเดียวกัน ยังส่งเสริมการมีสุขภาพดีจากการรับประทานอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย จากฝีมือของพนักงานเอง พร้อมรณรงค์ฟาร์มสุกรสีขาวเพื่อให้พนักงานทุกคนห่างไกลบุหรี่และยาเสพติด
“โครงการฟาร์มพอเพียง เป็นการสนับสนุนการสร้างรายได้เสริมและเพิ่มเงินออมให้พนักงาน โดยนำขีดความสามารถของฟาร์มที่มีพื้นที่สามารถทำการเกษตรได้ ทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ฟาร์มมีมูลสุกรและน้ำปุ๋ยสำหรับใช้ในการเพาะปลูกได้ โดยนำแนวคิดฟาร์มเกษตรผสมผสานไม่ใช้สารเคมี เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ พร้อมจัดตั้งสหกรณ์ของพนักงานฟาร์ม เพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตร ก่อเกิดรายได้เสริมและมีเงินปันผล และยังมีความรู้ด้านการออมเงินและทำบัญชีครัวเรือน นำไปสู่การวางแผนทางการเงินที่เหมาะสม ทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน เนื่องจากไม่ต้องกังวลกับภาระหนี้และมีรากฐานทางการเงินที่ดีให้กับตนเองและครอบครัว” นายสมพร กล่าว
ตัวอย่างความสำเร็จของฟาร์มสังกัดธุรกิจสุกรภาคอีสาน ที่ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อพนักงาน ภายใต้แนวคิด “ฟาร์มสุกรภาคอีสานกับการสร้างชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับพนักงาน” ที่ไม่เพียงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงาน ยังเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร อาทิ “โรงครัวอิ่มสุข” ที่มีการเลี้ยงไก่ไข่และปลา ปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อให้พนักงานได้รับอาหารที่สดใหม่และมีคุณภาพในทุกมื้ออาหาร ส่วนโครงการ “ร้านค้าอิ่มสุข” ที่ช่วยให้พนักงานได้ซื้อสินค้าคุณภาพในราคาย่อมเยา โดยในปีนี้เกิดยอดขายสะสมแล้วกว่า 12 ล้านบาท ใน 23 ฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการ ผลกำไรที่ได้จากการขายจะถูกนำมาปันผลคืนให้กับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 100% เกิดเป็นเงินออม เฉลี่ย 3,600 บาท/คน/ปี ความรู้สึกนี้ช่วยเพิ่มขวัญและกำลังใจในการทำงาน และเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิตประจำวัน และอีกหนึ่งโครงการที่มีความสำคัญ คือ โครงการ “ปลดหนี้สร้างสุข บัญชีครัวเรือน และออมเงิน” ซึ่งมุ่งช่วยพนักงานที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ทั้งช่วยปลดหนี้ และยังให้ความรู้ในการบริหารการเงิน สนับสนุนพนักงานเก็บออมเงินสำหรับเอาไว้ใช้ในอนาคตอีกด้วย ตลอดระยะเวลา 8 เดือน ในปี 2567 มีพนักงานเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,500 คน
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างความสำเร็จของฟาร์มสังกัดธุรกิจสุกรภาคตะวันออก ในปี 2566 มีพนักงานจำนวน 616 คน จาก 14 ฟาร์ม เข้าร่วมโครงการฯ คิดเป็น 100% ของทั้งหมด ที่สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้และปลอดจากปัญหายาเสพติด 100% ทุกคนมีรายได้เสริมจากผลผลิตด้านเกษตรที่ช่วยกันดูแล เพื่อจำหน่ายให้กับโรงครัวของฟาร์ม ส่งผลให้มีเงินออมและมีเงินปันผลจากสหกรณ์ฟาร์มทุกไตรมาส ที่สำคัญเงินลงทุนในโครงการยังเป็นเงินหมุนเวียนที่เกิดจากการดำเนินโครงการเองทั้งหมด สะท้อนความยั่งยืนของโครงการอย่างแท้จริง.