มช. ผนึกกำลัง ซีพีเอฟ ดันงานวิจัยนวัตกรรมแมลงทหารเสือเพื่ออุตสาหกรรม BCG
หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, ทั่วไป, การศึกษา, กรุงเทพฯ, ภาคเหนือ,
โฟสเมื่อ : 16 ก.พ. 2564, 17:26 น. อ่าน : 1,572 ศาสตราจารย์คลินิก
นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ ดร.ไพรัตน์
ศรีชนะ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท
เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)
“งานวิจัยนวัตกรรมแมลงทหารเสือเพื่ออุตสาหกรรม BCG” เพื่อต่อยอดและขยายผลในเชิงพาณิชย์ด้าน Biowaste หรือ
Circular Feed ซึ่งสอดรับกับ Model BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green
Economy : BCG) เป็นโมเดลที่ประเทศไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และซีพีเอฟ มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดความยั่งยืนตามแนวทาง SDGs
รศ.ดร.ยุทธนา
พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า มช.ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยแผนงาน SPEARHEAD
เศรษฐกิจ โครงการนวัตกรรมน้ำมันสกัดจากแมลงทหารเสือ
เพื่อใช้เป็นสารสำคัญในเครื่องสำอาง
ซึ่งเป็นงานวิจัยภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
วิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยศึกษาการใช้ประโยชน์จากแมลงทหารเสือในหลากหลายด้าน
ด้วยการบูรณาการงานวิจัยและความร่วมมือจากนักวิจัยหลากหลายคณะ
อย่างไรก็ตาม
การทำงานวิจัยจะก่อประโยชน์สูงสุดเมื่อสามารถผลักดันไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในเชิงพานิชย์ได้
ซึ่งจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ดังนั้นการที่มีภาคเอกชนมาร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
จึงเป็นเรื่องน่ายินดี โดยเฉพาะความร่วมมือจาก บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด
(มหาชน) ที่เป็นผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร รวมถึงมีบริษัทในเครือฯ
การนำงานวิจัยไปจึงสามารถนำไปใช้และต่อยอดได้หลายสาขา
“มช. และ ซีพีเอฟ
มีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาอุตสาหกรรม BCG ซึ่งเป็นแนวคิดในการนำวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการผลิตอย่างยั่งยืน
ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกรและชุมชน จึงเกิดความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น
โดยซีพีเอฟสนับสนุนงบประมาณในการวิจัย
และร่วมกันศึกษาเพื่อสร้างระบบต้นแบบการเลี้ยงหนอนแมลงทหารเสือแบบ Smart
Farm ที่เหมาะสมสำหรับชุมชน
เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปต่อยอดและสร้างอาชีพ
โดยนำผลิตผลทางการเกษตรเหลือใช้มาสร้างมูลค่า ซึ่งจะเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและจะเป็นโมเดลในการเรียนรู้ของนักศึกษา
เกษตรกร และชุมชนต่อไป” รศ.ดร.ยุทธนา กล่าว
ด้าน ดร.ไพรัตน์
ศรีชนะ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท
เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
บริษัทมีความสนใจในการศึกษาแหล่งโปรตีนทางเลือกไม่ว่าจะเป็น Plant-based
Protein, Cell-based Protein รวมไปถึง Insect-based Protein หรือโปรตีนจากกลุ่มของแมลง และได้พัฒนาอาหารสำหรับแมลงชนิดแรก คือ
อาหารจิ้งหรีด เมื่อปี 2556 สำหรับแมลงทหารเสือ เครือซีพี ได้เริ่มวิจัยมาในปี
2559 ในการศึกษาถึงการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในหลายๆ ด้าน
“แมลงทหารเสือ
เป็นคำตอบหนึ่งของการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนกับวัสดุชีวภาพในประเทศ
ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปของโปรตีนหรือไขมัน
แต่ต้องมีรูปแบบการเลี้ยงที่เหมาะสมทั้งทางด้านการลงทุน
และการควบคุมแมลงให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ทั้งนี้ที่มาของการผลิตแมลงก็ต้องสามารถสอบย้อนกลับได้
มีผลผลิตที่ดี ทั้งในทางด้านการผลิตและทางด้านค่าโภชนะต่างๆ
รวมไปถึงการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้
ยังสนใจที่จะศึกษาการเพิ่มมูลค่า
การหาสารสำคัญที่มีประโยชน์ รวมถึงการทดสอบผลข้างเคียง
เพื่อพัฒนาไปสู่ในระดับอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนต่อไป” ดร.ไพรัตน์ กล่าว
สำหรับ แมลงทหารเสือ Black soldier fly: Hermetia illucens (เฮอมิเทีย อิลลูเซ้นส์) เป็นแมลงที่มีศักยภาพและกำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก และตัวอ่อนแมลง (Larvae) สามารถเปลี่ยนอินทรียวัตถุ ให้เป็นโปรตีนและไขมันได้ และมีอัตราการผลิตโปรตีนต่อนำหนักต่ำ รวมถึงการใช้น้ำในการเลี้ยงน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งโปรตีนชนิดอื่นๆ ทั่วไป โดยสามารถคัดเลือกของเหลือใช้ทางการเกษตรและผลผลิตส่วนเกินที่เป็นแหล่งชีวภาพที่เหมาะสมมาพัฒนาการเลี้ยงให้ที่มาตรฐาน เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร.