กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 33.30-34.50 ผันผวนสูงตามผลเลือกตั้งสหรัฐฯ
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 5 พ.ย. 2567, 12:38 น. อ่าน : 151กรุงเทพฯ - กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.30-34.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.90 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วงแคบระหว่าง 33.63-33.92 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือน ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เงินยูโรฟื้นตัวแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์หลังข้อมูลบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไตรมาสสามของยูโรโซนสดใสกว่าคาดซึ่งลดความคาดหวังเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยขนาดใหญ่ของธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) สำหรับจีดีพีสหรัฐฯเติบโต 2.8% ในไตรมาสสาม ต่ำกว่าที่ตลาดคาดและชะลอจาก 3.0% ในไตรมาสสอง โดยยอดนำเข้าเร่งตัวท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคยังคงแข็งแกร่ง ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ตามคาด และคงคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะทรงตัวใกล้เป้าหมาย 2% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 9,644 ล้านบาท และ 4,892 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ เหตุการณ์สำคัญของตลาดโลกจะอยู่ที่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯวันที่ 5 พ.ย. ขณะที่ในช่วงเดือนที่ผ่านมานักลงทุนได้ปรับสถานะเพื่อรับชัยชนะของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ โดยหากทรัมป์คว้าชัยและพรรครีพับลิกันคุมเสียงในสภาครองเกรส (Red Sweep) เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสะท้อนการผลักดันนโยบายต่างๆ อาทิ การเพิ่มอัตราศุลกากร และการกีดกันผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งจะสร้างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระยะกลาง อย่างไรก็ตาม กรณีทรัมป์ชนะแต่ไม่เกิด Red Sweep หรือกรณีพลิกโผเป็นแฮร์ริสชนะ เงินดอลลาร์จะเผชิญแรงขายทำกำไรจากการระบาย Trump Trade ทิ้ง นอกจากนี้ตลาดจะติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)วันที่ 7 พ.ย. ซึ่งคาดว่าจะลดดอกเบี้ยลง 25bps เป็น 4.50-4.75% หลังตัวเลขจ้างงานเดือนต.ค.น่าผิดหวังแม้จะเป็นผลจากสภาพอากาศและการประท้วงผละงานก็ตาม แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจยังคงชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังเห็นร่วมกันว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 68 ที่ 1-3% มีความเหมาะสมและไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังต้องการเห็นเงินเฟ้อขึ้นไปที่ระดับ 2% พร้อมให้ธปท.ไปจัดทำข้อตกลงในการดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ.