กาแฟใต้อนาคตดีส่งร้านดัง “อเมซอน” พัฒนาปลูกแซมในสวน
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, นราธิวาส, ทั่วไป, ภาคใต้,
โฟสเมื่อ : 16 ต.ค. 2563, 08:00 น. อ่าน : 4,040เกษตรกรจังหวัดนราธิวาส พลิกวิกฤตราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หันมาปลูกพืชแซมสวนผลไม้เพื่อสร้างรายได้เสริมและใช้ประโยชน์จากดินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะที่ บ้านตันหยง ต.บาตง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เกษตรกรได้นำพันธุ์กาแฟมาทดลองปลูก อย่างเช่น นางซารีฮะ สะมาวี อายุ 48 ปี เกษตรกรในพื้นที่ หมู่ที่ 5 บ้านตันหยง เดิมพื้นที่บริเวณบ้าน ประมาณ 2 ไร่ สมัยบรรพบุรุษก็เคยปลูกกาแฟพันธุ์พื้นเมืองมาแล้ว เมื่อไม่มีใครสานต่อจึงหันมาปลูกลองกอง แต่เนื่องจากผลผลิตไม่ดี ช่วงปี 2559 ได้เริ่มปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้า เป็นรายแรกของอำเภอรือเสาะ ปีนี้ผลผลิตเริ่มออกเป็นปีแรก ล่าสุดทางร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนจากส่วนกลางได้ลงพื้นที่มาแนะ นำวิธีการปลูกและให้ความรู้ต่างๆ
นายเทอดศักดิ์ รัญจวน เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส ได้นำคณะไปเยี่ยมชมการปลูก กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาสได้มีโครงการส่งเสริมการปลูกกาแฟแซมสวนยางพารา สวนลองกอง ซึ่งพื้นที่สวนของ นางซารีฮะ สามารถต่อยอดได้เพราะปลูกกาแฟอยู่แล้ว ขณะนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ในเรื่องการปลูกกาแฟ ทาง ศอ.บต.ได้ร่วมกับ อเมซอน ส่งเสริมการผลิตกาแฟตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภาพรวมในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ปลูกในอำเภอรือเสาะ อำเภอยี่งอ อำเภอระแงะ ส่วนในพื้นที่อำเภอรือเสาะ รายนี้จะสนับสนุนเป็นต้นแบบในการส่งเสริมและพัฒนาปลูกกาแฟในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสต่อไป
ด้าน นางโรซานา สือนิ เกษตรอำเภอรือเสาะ กล่าวว่า สวนกาแฟแห่งนี้มีแนวโน้มจะออกผลผลิตมากขึ้น จึงวางแผนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การแปรรูป และการตลาด เจ้าของแปลงได้ทำการทดลองแปรรูปโดยเรียนรู้จากยูทูป ไม่ใช่คนรุ่นใหม่แต่สนใจพัฒนาต่อยอดกาแฟ และปีนี้ได้ร่วมกับทางรัฐบาล ซึ่งมีสำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส สำนักงานเกษตรอำเภอรือเสาะ ศอ.บต. และอเมซอน ที่จะร่วมมือช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ี่
สำหรับภาพรวมในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสมีพื้นที่ปลูกในอำเภอยี่งอ อำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ เกษตรกรรวม 420 ราย โดยเฉลี่ยรายละ 1-2 ไร่ กาแฟจะเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 4 โดยเฉลี่ย 1 ไร่ ปลูก 170 ต้น ผลผลิต 400 กิโลกรัม สร้างรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 24,000 บาท ต่อไร่ ซึ่งจากความสำเร็จในการปลูกนำร่องของนางซารีฮะในพื้นที่อำเภอรือเสาะ นอกจากเปิดให้เกษตรได้มาศึกษามาเรียนรู้ จะส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน พร้อมผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรต่อไป.