จัดทำแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ จ.สงขลา
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 19 ก.ค. 2566, 12:00 น. อ่าน : 347สงขลา-เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดสงขลา (พ.ศ. 2566-2570) ฉบับทบทวน” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 66 เวลา 10.30 น. นาย กองเอกพุทธ กฤชคงพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดสงขลา (พ.ศ. 2566-2570) ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่ห้องประชุมโรงแรมบีพี สมิหลา บีช อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยมีนางปิยรัตน์ ลัภกิตโร เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสงขลา พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมโรงแรมบีพี สมิหลา บีช อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้ทุกจังหวัดมีการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด(พ.ศ. 2566-2570) รวมทั้งให้มีการปรับปรุงและทบทวนทุกปี เพื่อบูรณาการการพัฒนาให้มีแนวทางและเป้าหมายการพัฒนาด้านการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดในอนาคต ตามศักยภาพการพัฒนาและความต้องการของพื้นที่ในปัจจุบัน
ส่วนรูปแบบและวิธีดำเนินการ ได้แก่ การเสวนา ในหัวข้อสถานการณ์ปัจจุบัน และทิศทางยุทธศาสตร์และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดสงขลา, การนำเสนอ (ร่าง) แผน ฯ, การแบ่งกลุ่มการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนฯ และการจัดทำแผนงาน โครงการ กิจกรรมแต่ละประเด็น ได้แก่ ด้านพืชด้านประมง ด้านปศุสัตว์ จากนั้นนำไปสู่ขันตอนการประมวลผลการรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำไปปรับปรุงฯ แผนภายในระยะเวลาที่กำหนด และนำเสนอแผนฯ ให้ส่วนที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนดำเนินการต่อไป
นายกองเอกพุทธ กฤชคงพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ภาคการเกษตรของจังหวัดสงขลา มีความสำคัญในเชิงพื้นที่และประชากรส่วนใหญ่ การจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดสงขลา(พ.ศ.2566 -2570) ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาภาคการเกษตร ที่ผ่านการวิเคราะห์จากปัญหาความต้องการและศักยภาพการพัฒนาของพื้นที่มาระดับหนึ่งแล้ว จึงจำเป็นจะต้องนำมาให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อเสนอแนะ หรือข้อคิดเห็นให้แผนฯ มีความสมบูรณ์ พร้อมที่จะนำไปขอสนับสนุนงบประมาณ ทั้งในส่วนของงบปกติของกระทรวง งบพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดหรือแหล่งอื่นๆ ในการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติต่อไปได้
ทั้งนี้ขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการได้ให้ความสำคัญและให้ข้อเสนอแนะ หรือข้อคิดเห็นให้เต็มที่ เพื่อเป้าหมายสุดท้ายในการพัฒนาด้านการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดสงขลา ให้ตรงกับความต้องการและปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่ของจังหวัดสงขลา อันที่จะทำให้มีความเป็นอยู่ ที่ดีขึ้นและเกิดความมั่นคงในอาชีพต่อไป.