“จุรินทร์” ขึ้นอีสาน แก้ปัญหาให้ผู้ปลูกมันสำปะหลังที่โคราช

หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, ทั่วไป,

อ่าน : 1,345
จุรินทร์ ปัญหามันสำปะหลัง
“จุรินทร์” ขึ้นอีสาน แก้ปัญหาให้ผู้ปลูกมันสำปะหลังที่โคราช

            จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ นำคณะลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา ติดตามการดำเนินโครงการประกันรายได้มันสำปะหลัง พร้อมแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ส่วนเงินประกันรายได้ งวดที่ 7 ล่าสุดจะจ่าย 1 มิ.ย.นี้

            เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2563 เวลา 12.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ พร้อมด้วยนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ และคณะ ติดตามการดำเนินโครงการประกันรายได้มันสำปะหลัง พร้อมมอบเครื่องสับมันและอุปกรณ์ตามโครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง ที่ หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยมี นายพรชัย อำนวยทรัพย์, นายวิสิทธิ์ พิทยาภรณ์, นายอภิชา เลิศพชรกมล ส.ส.นครราชสีมา รวมทั้งอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกพรรคฯ ทั้ง 16 เขตเลือกตั้ง ของ จ.นครราชสีมา มาให้กำลังใจ โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา, พาณิชย์จังหวัด, ผู้แทน ธ.ก.ส., เกษตรจังหวัดในภาคอีสาน และเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังใน จ.นครราชสีมา เข้าร่วมรับฟังนโยบาย จำนวนกว่า 200 คน และในการประชุมได้มีการจัดระเบียบนั่งเว้นระยะห่างตามมาตรการกำหนดโควิด-19 ด้วย

            นายจุรินทร์ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมาครั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการประกันรายได้มันสำปะหลัง ให้กับเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศ มีจำนวน 5.2 - 5.7 แสนครอบครัว และรัฐบาลได้จัดงบประมาณเพื่อจ่ายเงินส่วนต่างในกรณีที่ราคามันสำปะหลังในตลาดต่ำกว่ากิโลกรัมละ 2.5 บาท เป็นเงินจำนวน 9,400 ล้านบาท การประกันรายได้เกษตรกรนั้น ประกันที่กิโลกรัมละ 2.5 บาท ที่เชื้อแป้ง 25 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมีการจ่ายเงินส่วนต่างไปแล้ว 6 งวด โดยงวดล่าสุดได้จ่ายไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2563 และงวดต่อไป งวดที่ 7 มีกำหนดจ่ายเงินวันที่ 1 มิ.ย. 2563 โดยเกษตรผู้ปลูกมันสำปะหลังนั้น จะได้รับประกันรายได้ครอบครัวละไม่เกิน 100 ตันของหัวมันสด

            รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวอีกว่า จากการที่ได้รับทราบปัญหาของเกษตรกรพบว่า ยังมีประเด็นปัญหาเรื่องการรับเงินส่วนต่าง หรือการโอนเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรที่ล่าช้า จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการแก้ไขพิจารณาตัดยอดการรับเงินส่วนต่างให้กับเกษตรทุกสิ้นเดือน แทนการตัดยอดในช่วงเวลากลางเดือน เพื่อให้เกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างในเดือนถัดไปทันที สำหรับปัญหาของโรคใบด่างนั้น หลายจังหวัดได้รับเงินงบประมาณชดเชย กรณีการทำลายต้นพันธุ์มันสำปะหลังที่ติดโรคล่าช้า ทำให้เกษตรกรไม่ยอมทำลายต้นมันสำปะหลังเพราะไม่ได้รับเงินชดเชยช่วยเหลือ เรื่องนี้ตนจะทำหนังสือยื่นเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้สำนักงบประมาณเร่งรัดเรื่องของการโอนเงินชดเชยโค่นต้นพันธุ์ที่ติดโรคใบด่างให้กับเกษตรกรโดยเร็ว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ยังได้ให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดจัดตั้งศูนย์ One Stop Service เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์ และให้การช่วยเหลือกับเกษตรกรที่ประสบปัญหา

            สำหรับ จ.นครราชสีมา มีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดในประเทศไทย โดยสถานการณ์การปลูกมันสําปะหลัง ปีการผลิต 2562/2563 จ.นครราชสีมา มีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนทั้งสิ้น 1,436,075 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 4.04 ตันต่อไร่ ผลผลิตรวมทั้งสิ้นจำนวน 5,325,614 ตัน โดยพฤติกรรมทางการค้าโดยทั่วไปราคารับซื้อผลผลิตจะปรับลดลงในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากเกินกำลังการผลิตของผู้ประกอบการ ดังนั้นมาตรการประกันรายได้เกษตรกร ถือเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความมั่นใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปัจจุบัน จ.นครราชสีมา มีผู้ปลูกมันสำปะหลังได้รับเงินชดเชยตามโครงการประกันรายได้รวมทั้งสิ้น 53,705 ราย รวมเป็นเงิน 757,916,453.72 บาท คิดเป็นร้อยละ 91.17 และมีผลผลิตคงเหลืออีกประมาณร้อยละ 20-30 คาดว่าจะเบิกจ่ายตามโครงการได้เสร็จสิ้นทั้งหมด.