ชาวประมงพังงาคัด กม.ประมง ห้ามจับปลาทูลังและปูม้า เดือดร้อนหนัก

หมวดหมู่ : พังงา, ทั่วไป,

อ่าน : 617
ค้านกฎหมายประมง มาตรา 57 บังคับห้ามจับ ปลาทู ปลาทูลัง และปูม้า ชาวประมงแบกภาระต้นทุนน้ำมันเรือเพื่อเข้าจับสัตว์น้ำ
ชาวประมงพังงาคัด กม.ประมง ห้ามจับปลาทูลังและปูม้า เดือดร้อนหนัก

พังงา-ชาวประมงพังงาถือป้ายค้านกฎหมายประมง มาตรา 57 ลงลึกบังคับห้ามจับ ปลาทู ปลาทูลัง และปูม้า


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ และ สมาคมประมงจังหวัดพังงา ถือป้ายคัดค้าน การบังคับใช้กฎหมายประมง ปี 2558 – 2560 พรก.การทำประมง เรื่องการจับสัตว์น้ำ ของกรมประมง โดย มาตรา 57 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง ซึ่งทางกรมประมงได้สอบถามความคิดเห็นจากชาวประมง ก่อนบังคับใช้ ในการประชุมที่ สถานีประมงทะเลจังหวัดพังงา บ้านบ่อดาน ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา 


สาระสำคัญในการคัดค้านกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากมีการกำหนดขนาดของสัตว์น้ำ เบื้องต้นได้ระบุชนิดของปลา คือ ปลาทู ปลาทูลัง และ ปูม้า โดยกำหนดว่า ปลาทู และ ปลาทูลัง ขนาดต่ำกว่า 12 เซ็นติเมตร ในช่วงแรก และ 15 เซ็นติเมตร ในช่วงต่อไป ส่วนปูม้า ขนาดกระดองต่ำกว่า 6 นิ้ว ซึ่งระบุโทษไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 57 ต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ 10,000 ถึง 100,000 บาท หรือ ปรับเป็นจำนวน 5 เท่า ของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และระบุโทษตามขนาดเรือไว้ว่า ขนาดเรือ 10 – 20 ตันกรอส ปรับ100,000 – 200,000 บาท ขนาดเรือ 20 – 60 ตันกรอส ปรับ 200,000 – 600,000 บาท ขนาดเรือ 60 – 150 ตันกรอส ปรับ 600,000 – 5 ล้านบาท ขนาดเรือ 150 ตันกรอสขึ้นไป ปรับ 5 ล้าน – 30 ล้านบาท 


กฎหมายดังกล่าวทำให้ชาวประมงได้รับความเดือดร้อน ซึ่งชาวประมงมองว่า การจับปลาในปัจจุบันไม่สามารถแยกชนิดปลาและขนาดสัตว์น้ำได้ โดยเฉพาะขนาดสัตว์น้ำ ต้องเปลี่ยนขนาดอุปกรณ์การจับสัตว์น้ำ ทางภาครัฐต้องเป็นผู้สรรหาและช่วยเหลือต้นทุนการจัดหาอุปกรณ์ อีกทั้งปัจจุบันชาวประมงแบกภาระต้นทุนน้ำมันเรือเพื่อเข้าจับสัตว์น้ำ ไม่มีการช่วยเหลือชาวประมง กลับซ้ำเติมด้วยการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้ยังเกรงว่าภาครัฐจะขยายบังคับใช้กฎหมายชนิดปลาและสัตว์น้ำอย่างอื่นเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ


นายบุญชู แพใหญ่ นายกสมาคมประมงจังหวัดพังงา กล่าวว่า ชาวประมงไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งผลกระทบที่ระบุจะเป็นความเดือดร้อนมากกว่าจะช่วยแก้ปัญหาของชาวประมง ปัจจุบันชาวประมงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน พื้นการทำประมง และกฎหมายที่ควบคุมเรือประมงอย่างหนักอยู่แล้ว.












อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :