ดีเอสไอ ตรวจสอบการส่งออกแร่หินที่จะนะ ก่อนจะรับพิจารณาเป็นคดีพิเศษ
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 15 ก.ย. 2564, 20:00 น. อ่าน : 789สงขลา-ดีเอสไอ ลงพื้นที่ทำการสืบสวน ตรวจสอบการประกอบกิจการเหมืองแร่โดยไม่ชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ ในพื้นที่ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยเฉพาะขั้นตอนการส่งออกต่างๆ รวบรวมหลักฐานเพื่อพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 กันยายน พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะกำกับดูแล และนายมเหสักข์ พันธ์สง่า ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ได้มอบหมายให้ นายพิเชฐ ทองศรีนุ่น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ นายชยพล สายทวี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่สืบสวน กรณี การประกอบกิจการเหมืองแร่โดยไม่ชอบด้วยกฏหมายที่ท่าเรือเอกชนในพื้นที่ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ตามเลขสืบสวนที่ 85/ 2564
นายชยพล สายทวี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมร่วมระหว่าง สำนักอำนวยการข่าวกรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ความรับผิดชอบ ในขณะเดียวกันได้รับข้อมูลทางการข่าวว่าในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีการส่งออกแร่หินไปต่างประเทศโดยไม่ถูกต้องตามกฏหมาย จึงได้ลงพื้นที่ทำการพิสูจน์ทราบ ขั้นตอนการส่งออกร่วมกับ อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ด่านศุลกากรสงขลา เทศบาลตำบลนาทับ สถานีตำรวจภูธรควนมีด ศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ บริษัท ไศลรุ่งเรือง จำกัด บริษัท เมืองแร่ลิวงศ์ จำกัด และบริษัท เอ็กซ์วัน (อินเตอร์เทรด) ประเทศไทย จำกัด โดยได้ตรวจสอบขั้นตอนตั้งแต่รถบรรทุกแร่เข้ามาในบริเวณท่าเรือเอ็กซ์วัน จนกระทั่งส่งแร่ออกไปนอกราชอาณาจักร พร้อมทั้งขอเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาประกอบการพิจารณา
สำหรับการสืบสวนนั้นได้ตั้งประเด็นในการสืบสวนใน 2 กรณี คือ 1.การส่งออกแร่หินดังกล่าวได้ดำเนินการโดยถูกต้อง และชำระค่าภาคหลวง ครบถ้วนหรือไม่ และ 2.การทำเหมืองของผู้ประกอบการส่งออกดังกล่าว ได้ทำเหมืองนอกเขตประทานบัตรที่ได้รับอนุญาตหรือไม่
อนึ่งการส่งออกแร่หินไปยังต่างประเทศดังกล่าว แม้จะได้เงินจากค่าภาคหลวง แต่ก็คิดคำนวณเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก เมื่อต้องเทียบกับการต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปพัฒนาให้กับต่างประเทศ แทนที่จะใช้เพื่อความต้องการพัฒนาภายในประเทศซึ่งยังคงขาดแคลนอยู่
นายชยพล กล่าวอีกว่า จากกรณีดังกล่าวอาจเป็นคดีความผิดตามกฏหมายว่าด้วยแร่ ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศพระราชบัญญัติการสอบสวนพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
“คณะพนักงานสืบสวน ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำการสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนรอบด้าน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และจะประมวลเรื่องเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าจะพิจารณาสั่งการให้รับเป็นคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ต่อไปหรือไม่” นายชยพลกล่าว.