ด่วน! 6 จว.อันดามัน เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน-มท.2สั่งพร้อมรับมือ

หมวดหมู่ : กรุงเทพฯ,

อ่าน : 748
เตือนภัย 6 จังหวัดภาคใต้อันดามัน เสี่ยงน้ำท่วม
ด่วน! 6 จว.อันดามัน เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน-มท.2สั่งพร้อมรับมือ

กรุงเทพฯ-เตือนภัย 6 จังหวัดภาคใต้อันดามัน เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน กรมอุตุนิยมวิทยาติดตามสภาะอากาศแจ้งเตือนล่วงหน้า ขณะที่ รมช.มหาดไทย สั่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)เตรียมพร้อมรับมือ และแจ้งเตือนประชาชนระมัดระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

         การเตือนรับมือน้ำท่วมฉับพลันครั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงฤดูมรสุมในพื้นที่ภาคใต้ที่ปีนี้มาถึงเร็วกว่าปกติ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาพอากาศ และปัจจัยเสี่ยงร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งได้มีประกาศแจ้งหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง บริเวณด้านตะวันออกของอ่าวเบงกอลรวมถึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมภาคใต้ฝั่งตะวันตกและทะเลอันดามัน ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามันมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ขณะที่คลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 – 3 เมตร 

        สภาพอากาศดังกล่าวส่งผลทำให้ 6 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันได้รับผลกระทบผลฝนตกหนักและคลื่นลมแรง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในช่วงวันที่ 23 – 28 พฤษภาคม ได้แก่ จ.ระนอง (อำเภอละอุ่น และอำเภอกะเปอร์) จ.พังงา (อำเภอตะกั่วป่า และอำเภอคุระบุรี) จ.ภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกระทู้ และอำเภอถลาง) จ.กระบี่ (อำเภอเขาพนม อำเภอปลายพระยา และอำเภอลำทับ) จ.ตรัง (อำเภอเมืองตรัง อำเภอนาโยง อำเภอย่านตาข่าว อำเภอกันตัง อำเภอห้วยยอด อำเภอปะเหลียน และอำเภอวังวิเศษ) และจ.สตูล (อำเภอควนโดน อำเภอควนกาหลง อำเภอมะนัง และอำเภอทุ่งหว้า) 

        นายนิพนธ์ รมช.มหาดไทย กล่าวย้ำถึงการ เตรียมความพร้อมรับมือว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสานจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคใต้ฝั่งอันดามันให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรงในช่วงนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม โดยให้ศูนย์ปภ.ในพื้นที่ร่วมกับจังหวัดติดตามสภาพอากาศปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมให้จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัย(อาสาสมัครเตือนภัย) ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ลาดเชิงเขา รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามประกาศเตือนภัย และปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด.



อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :