ตรัง-จังหวัดน่าห่วง ยอดผู้ป่วยโควิด-19 พุ่ง จากคลัสเตอร์โรงงานถุงมือแพทย์ติดเชื้อแล้วกว่า 461 คน เชื้อเริ่มแพร่กระจายสู่ครอบครัวและคนใกล้ชิด ขณะเดียวกันกักตัวบุคลากรทางการแพทย์ 2 โรงพยาบาลไปแล้วกว่า 21 ราย คาดเชื้อเริ่มลุกลามสู่โรงงานอื่นแล้ว เร่งเพิ่ม รพ.สนามแห่งที่ 6 อาจจะส่งผลต้องเลื่อนเปิดเทอมหากเชื้อลุกลามมากกว่านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์แถลงข่าวบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ศบค.) จ.ตรัง ห้องลิบง ชั้น 2 ศาลากลาง จ.ตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผวจ.ตรัง เป็นประธานในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 จ.ตรัง วันที่ 2 มิถุนายน 2564 โดยมีนพ.บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นพ.สสจ.ตรัง นพ.ตุลกานต์ มักคุ้น นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.ตรัง นางพรทิพา อัครสุต อุตสาหกรรม จ.ตรัง น.ส.สุชาวดี สะอาดจิตร รักษาการประกันสังคม จ.ตรัง นางอมรวรรณ ช่วงเพ็ชจินดา แรงงาน จ.ตรัง เข้าร่วมแถลงด้วย
นายขจรศักดิ์ กล่าวว่า ยอดผู้ติดเชื้อในวันนี้จำนวน 176 ราย เป็นคลัสเตอร์ของโรงงานถุงมือยางทางการแพทย์บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สาขาตรัง) ทั้งหมด โดยมีการตรวจหาเชื้อ (SWAP) จากโพรงจมูกและคอไปแล้วทั้งหมด 1,625 ราย ผลตรวจออกมาแล้วจำนวน 1,505 ราย มีผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์ของโรงงานไปแล้วกว่า 461 ราย แบ่งเป็นสัญชาติเมียน มา 160 คน สัญชาติไทย 301 คน เหลือผลตัวอย่างการตัวอีกจำนวน 120 คน ซึ่งคาดว่าจะออกมาทั้งหมดในพรุ่งนี้ ส่วนการเปิดเรียนหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นจำเป็นจะต้องเลื่อนเปิดเรียนไปก่อน จะไม่เปิดเรียนอย่างแน่นอน และได้มีการเตรียมการขยาย รพ.สนามแห่งที่ 6 แล้วซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ
ขณะที่ นพ.บรรเจิด กล่าวอีกว่า สำหรับการแพร่กระจายของแรงงานโรงงานถุงมือไปสู่ครอบครัวและคนใกล้ชิด ซึ่งมีทั้งสัมผัสเสี่ยงต่ำและเสี่ยงสูง ตอนนี้เริ่มมีที่ติดเชื้อแล้วอีกจำนวนหนึ่ง การคาดการณ์คือไม่รู้ว่าผู้ติดเชื้อรายแรกเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะพนักงานจำนวนหนึ่งเดินทางกลับบ้าน โอกาสที่จะติดคนในครอบครัวจึงมีที่จะเกิดขึ้นได้ โดยเร่งทำการตรวจหาเชื้อและกักตัวคนใกล้ชิดแล้ว และกรณีที่ รพ.สิเกา มีรายงานมาเมื่อคืนที่ผ่านมาว่า ได้มีผู้ป่วยสัญชาติเมียนมา ทำงานอยู่ในโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา “นาเมืองเพชรพาราวู้ด” ไปแอดมิดที่โรงพยาบาลสิเกา เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมาด้วยอาการมีไข้ เบื้องต้นแพทย์สงสัยว่าอาจจะป่วยเป็นไข้เลือดออก จนกระทั่งรักษาตัวอยู่จำนวน 3 วัน แต่ปรากฏว่าไข้ไม่ลดลง จึงทำการเอกซเรย์ปรากฏว่ามีปอดบวม จึงทำการตรวจหาเชื้อ ผลออกมาเป็นผลบวก
จากการตรวจคัดกรอง ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำ จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ป่วยอื่นๆ ที่ร่วมห้อง 2. เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนทุกเวร 3.ญาติผู้ป่วยรวมถึงเตียงอื่นๆ ทำให้เจ้าหน้าที่จำนวน 26 คน ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 18 คน ยังไม่ฉีดเลย 2 คน อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 2 คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนจะต้องกักตัว 14 วัน ทำให้ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 18 คนที่ฉีดวัคซีนครบแล้วดูแลผู้ป่วยที่เหลืออยู่ในวอร์ดดังกล่าว โดยได้นำผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยรายอื่นๆ มาทำการตรวจหาเชื้อหมดแล้ว จึงต้องปิดวอร์ดดังกล่าวและหอผู้ป่วยในทั้งหมด เหลือไว้แค่เพียงห้องฉุกเฉิน ส่วนผู้ป่วยที่จะต้องแอดมิดจะส่งต่อไปยัง รพ.ข้างเคียง
ด้าน นายแพทย์ตุลกานต์ เปิดเผยว่า มีกรณีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จาก โรงพยาบาลในพื้นที่ จ.สตูล เดินทางมาที่ รพ.ตรัง ซึ่งเป็นยอดผู้ป่วยติดเชื้อของ จ.สตูล ในขณะที่ถูกส่งมา รพ.ตรัง ผลการตรวจหาเชื้อโควิดยังไม่ออก ผู้ป่วยจึงได้รับการผ่าตัด และนอนในห้องไอซียู ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เมื่อผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ออกมาแล้ว ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยในห้องไอซียูต้องได้รับการกักตัว และทำการตรวจหาเชื้อ แบ่งเป็นพยาบาลจำนวน 19 คน เมื่อผลออกแล้วถ้าเป็นผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบก็จะกลับมาทำงานได้ แต่ในขณะนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยทั้งหมดได้ให้พยาบาลเหล่านี้กักตัวไว้ก่อนจนกว่าจะทราบผล
ส่วนเรื่องผลขอรายงานว่า เนื่องจากวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ทำการตรวจผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ผลที่ รพ.ตรัง ออกช้ากว่ากำหนด เพราะมีผลของคลัสเตอร์โรงงานถุงมือด้วย และในขณะนี้ยังคงรอผลตรวจอีกจำนวน 4 คลัสเตอร์ได้แก่ คลัสเตอร์ร้านภาสินี โรงงานกันตังพาราวู้ด โรงงานนาเมืองเพชนพาราวู้ด และคลัสเตอร์ผู้ต้องหาย่านตาขาว
ส่วน น.ส.สุชาวดี สะอาดจิตร รักษาการประกันสังคม จ.ตรัง กล่าวถึง สถานการณ์ในขณะนี้มีสถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราวไปแล้วกว่า 13 แห่ง มีแรงงานยื่นเป็นผู้ว่างงานจำนวน 152 คน ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 ขอให้มายืนยืนยันตน โดยจะมีการเยียวยาตามหลักเกณฑ์ประกันสังคม ซึ่งจะมีการจ่ายให้ในทุกเดือนเป็นงวดๆ ประมาณร้อยละ 50 โดยสอบถามข้อมูลได้ที่เบอร์ 075-570529.