“ตาไว” เครื่องมือและระบบการจัดการความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดย ม.อ.

หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป, การศึกษา,

อ่าน : 1,358
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เครื่องมือและระบบการจัดการความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณา “TaWai for Health” (ตาไว)
“ตาไว” เครื่องมือและระบบการจัดการความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดย ม.อ.

        มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาเครื่องมือและระบบการจัดการความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณา ชื่อว่า TaWai for Health” (ตาไว) ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ใช้งานกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ บูรณาการการทำงานร่วมกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อขับเคลื่อนแนวทางการจัดการปัญหาด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณาที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภค ผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป

        ผศ.ดร.ภก.ภาณุพงศ์ พุทธรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายระบบขับเคลื่อนวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อดูแลตนเองมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ขณะเดียวกันปัญหาการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานและการโฆษณาเกินจริงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามแก้ปัญหา แต่ไม่อาจต้านทานกระแสแห่งยุคดิจิทัลนี้ได้ ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะเภสัชศาสตร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหา จึงได้จัดทำโครงการวิจัยภายใต้การดำเนินการของ “หน่วยวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือ TaWai for Health (ตาไว)” โดยมีภารกิจคือการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลที่ช่วยรวบรวมข้อมูล ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยว่าจะเกิดอันตราย และการโฆษณาเกินจริง ที่ส่งผลกระทบในระดับชุมชน สถานพยาบาล หรือบนอินเทอร์เน็ต โดยมี บุคลากรทางการแพทย์ และ อสม. เป็นเครือข่ายในการรายงานผ่านเครื่องมือนี้ ข้อมูลของปัญหาจะแจ้งเตือนไปยังผู้รับผิดชอบในระดับพื้นที่เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา จากนั้นข้อมูลปัญหาจากทุกพื้นที่ที่ใช้งานระบบจะถูกส่งไปยัง อย. เพื่อการแก้ไขปัญหาในระดับประเทศต่อไป

        “จากจุดเริ่มต้นโครงการในปี 2559 ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ปัจจุบันเครื่องมือตาไวถูกพัฒนาเป็น version 3.0 มีเครือข่ายการทำงานครอบคลุมกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ มีผู้ใช้งาน ทั้งเภสัชกร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข (อสม.) เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิต่างๆ ตลอดจน อย. น้อย หรือ นักเรียนในโรงเรียน จำนวนกว่า 1,000 คน มีการรายงานปัญหามาทั้งหมดกว่า 5,000 รายการ” ผศ. ดร.ภก.ภาณุพงศ์ กล่าว

        ด้าน ภก.ชวลิน อินทร์ทอง นักวิจัยประจำโครงการวิจัย กล่าวว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นอีกมิติหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคนไทย ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานและการโฆษณาเกินจริงมีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพผู้บริโภคมากขึ้น ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ไม่ว่าในบริบทชุมชนที่ห่างไกล ในสถานพยาบาล หรือแม้กระทั่งบนอินเทอร์เน็ต การพัฒนาเครื่องมือตาไวจึงอาจเทียบเคียงกับวลี “ตาวิเศษ” ที่จะช่วยสอดส่องปัญหา การประสานงานระหว่างผู้รับผิดชอบและเข้าแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ได้ทันท่วงที ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าโครงการตาไว คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการปฏิบัติภารกิจคุ้มครองผู้บริโภค ให้มาอยู่บน Digital platform เพื่อการบริหาร จัดการ และการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

        “สิ่งสำคัญคือการพยายามผลักดันให้เครื่องมือและระบบการแก้ปัญหา ได้รับการยอมรับใช้งานทั่วประเทศ เพราะจะยิ่งทำให้มองเห็นข้อมูลของปัญหาที่ครอบคลุมภาพใหญ่ระดับประเทศ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลในด้านการตัดสินใจเชิงนโยบายได้ อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจว่าปัญหานี้มีหลายองค์ประกอบที่ต้องแก้ไขไปพร้อมๆ กัน ทางโครงการจึงยังคงมุ่งวิจัยเพื่อค้นหากระบวนการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำเอาระบบ social listening มาเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มผู้ใช้งานเดิม การสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายองค์กรต่างๆ เพิ่มขึ้น และการปรับทิศทางของภารกิจวิจัยในอนาคตมาที่การเสริมพลังฝั่งผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งสามารถติดตามผลงานวิจัยได้เร็วๆ นี้” ภก.ชวลิน กล่าว

        ผู้สนใจเข้าใช้งานระบบตาไว สามารถติดต่อหน่วยวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์ สุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้โดยตรงผ่านเว็บไซต์ www.tawaiforhealth.org หรือ เฟสบุ๊กแฟนเพจ : ตาไวรู้ทันภัยสุขภาพ.




อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :


ม.อ. รับโล่จากนายกฯ จากผลงานนำยางฯหุ้มแบริเออร์ เซฟชีวิต
ม.อ. รับโล่จากนายกฯ จากผลงานนำยางฯหุ้มแบริเออร์ เซฟชีวิต

ม.อ.ทำบัตรอวยพรปีใหม่ 2564
ม.อ.ทำบัตรอวยพรปีใหม่ 2564

นักวิจัย ม.อ.พัฒนา “เปลือกมะม่วงเบา-น้ำเชื่อมเหลือทิ้ง” สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
นักวิจัย ม.อ.พัฒนา “เปลือกมะม่วงเบา-น้ำเชื่อมเหลือทิ้ง” สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

“Local life” แพลตฟอร์มดิจิทัลอาหารและเครื่องดื่มเพื่อชาว ม.อ.
“Local life” แพลตฟอร์มดิจิทัลอาหารและเครื่องดื่มเพื่อชาว ม.อ.

ม.อ.ร่วมภาคเอกชน พัฒนางานวิจัยกัญชา กัญชง กระท่อม ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เชิงพาณิชย์
ม.อ.ร่วมภาคเอกชน พัฒนางานวิจัยกัญชา กัญชง กระท่อม ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เชิงพาณิชย์

บุคลากร ม.อ.คว้า 2 รางวัลในงาน Thailand Kaizen Award 2020
บุคลากร ม.อ.คว้า 2 รางวัลในงาน Thailand Kaizen Award 2020

ม.อ.เปิดตัวหลักสูตร “การจัดการระบบกิจการฮาลาล” ตอบโจทย์ธุรกิจฮาลาลที่แรก
ม.อ.เปิดตัวหลักสูตร “การจัดการระบบกิจการฮาลาล” ตอบโจทย์ธุรกิจฮาลาลที่แรก

ม.อ.ผนึกกำลัง กอจ.สงขลา พัฒนากำลังคน รองรับอุตสาหกรรมตามมาตรฐานฮาลาล
ม.อ.ผนึกกำลัง กอจ.สงขลา พัฒนากำลังคน รองรับอุตสาหกรรมตามมาตรฐานฮาลาล

ม.อ.และ ซีพีเอฟ จับมือหนุนวิชาการด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร
ม.อ.และ ซีพีเอฟ จับมือหนุนวิชาการด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร

ม.อ. ร่วมกิจกรรม "พาดาวมาหาน้อง ท่องโลกวิทยาศาสตร์"
ม.อ. ร่วมกิจกรรม "พาดาวมาหาน้อง ท่องโลกวิทยาศาสตร์"

ม.อ. เปิดฉีดวัคซีนโควิด-19 วันแรก พร้อมกันทั่วประเทศ!
ม.อ. เปิดฉีดวัคซีนโควิด-19 วันแรก พร้อมกันทั่วประเทศ!

ม.อ.จัดตั้งสมัชชาพลิกโฉมอนาคต รองรับการเปลี่ยนแปลง
ม.อ.จัดตั้งสมัชชาพลิกโฉมอนาคต รองรับการเปลี่ยนแปลง