พัทลุง- ต้นสาคูราคาพุ่งพรวด จากต้นละ 500 บาทขยับสูงถึง 1,500-16,000 บาท ผลพวงความต้องการแป้งสาคูสูงช่วงวิกฤตโควิด-19 สนง.เกษตรพัทลุงเดินหน้าปลูกต้นสาคู เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นเมือง รักษาระบบนิเวศวิทยา และสร้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชน
นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รอง ผวจ.พัทลุง เป็นประธานปลูกต้นสาคู ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อ สวนมังกรทอง ต.ท่าแค อ.เมืองพัทลุง เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2563 ที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้จัดขึ้น เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมสาคูของจังหวัดพัทลุงไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ และเพื่อรักษาระบบนิเวศวิทยา เนื่องจากในช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 เป็นช่วง“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”นั้น ผลิตภัณฑ์แป้งสาคูได้สร้างรายได้ให้กับประชาชนชาวจังหวัดพัทลุงเป็นจำนวนมาก จนทำให้ต้นสาคูราคาพุ่งสูงในขณะที่ต้นสาคูตามพื้นที่ต่างไของจังหวัดพัทลุงได้ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง
จากปัญหาต้นสาคูมีจำนวนลดลง ทำให้ผู้ผลิตแป้งสาคูหลายรายต้องไปซื้อต้นสาคูจากต่างจังหวัด จนทำให้หลายฝ่ายเรียกร้องให้ทางจังหวัดพัทลุง และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งการอนุรักษ์ต้นสาคูและปลูกต้นสาคูตามพื้นที่ต่างๆให้มากขึ้น เพื่อนำต้นสาคูไปผลิตแป้งสาคูในอนาคต ซึ่งจะสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่กลุ่มผู้ผลิตแป้งสาคูได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง จึงได้ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมปลูกต้นสาคูขึ้นดังกล่าว โดยได้รับการสนับสนุนต้นพันธุ์สาคูจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง และได้รับการอนุเคราะห์พื้นที่ปลูกจากนายธนิต สมแก้ว เจ้าของสวนมังกรทอง โดยหลังจากนี้ทางจังหวัดฯและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จะได้เร่งขยายพื้นที่ปลูกต้นสาคูไปตามพื้นที่ต่างๆต่อไป และจะใช้สวนมังกรทองเป็นศูนย์เรียนรู้ของการปลูกต้นสาคูต่อไปเช่นกัน
ทางด้านผู้ประกอบการแป้งสาคูในพื้นที่ ต.ชัยบุรี อ.เมืองพัทลุง เปิดเผยว่า ราคาต้นสาคูจากราคาเดิมเพียงแค่ต้นละ 500 บาท ขณะนี้ราคาได้พุ่งสูงขึ้นถึงต้นละ 1,500 – 1,600 บาท ในขณะที่จำนวนต้นสาคูในพื้นที่ จ.พัทลุง ได้ลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ จนทำให้ผู้ผลิตแป้งต้นสาคูส่วนหนึ่งต้องสั่งซื้อต้นสาคูจากจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากต้นสาคูที่จะนำมาเป็นแป้งสาคูได้นั้นจะต้องมีอายุ 7 – 8 ปี จึงเห็นด้วยกับการรณรงค์ส่งเสริมการปลูกต้นสาคูในพื้นที่จังหวัดพัทลุงให้เพิ่มขึ้น เพราะพื้นที่ของจังหวัดพัทลุงที่มีสภาพพื้นที่ที่สามารถปลูกต้นสาคูให้เจริญเติบโตได้นั้นมีเป็นจำนวนมาก.