ทรู คอร์ปอเรชั่น - กสทช. - ดีอี นำร่องทดสอบระบบเตือนภัยเสมือนจริง “LIVE-Cell Broadcast Service” ที่ภูเก็ต
หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, ภูเก็ต, ทั่วไป, ไลฟ์สไตล์-บันเทิง,
โฟสเมื่อ : 20 พ.ย. 2567, 11:43 น. อ่าน : 187 บรรยายภาพ : นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ (ขวาสุด) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล (ที่ 2 จากซ้าย) รองเลขาธิการ กสทช. และรักษาการเลขาธิการ กสทช. นายกองเอก อดุลย์ ชูทอง (ที่ 3 จากซ้าย) รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ (ซ้ายสุด) รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำการทดสอบเสมือนจริงระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ หรือ Cell Broadcast Service (CBS) ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อมุ่งยกระดับความปลอดภัยในเมืองท่องเที่ยวสำคัญของภาคใต้ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มาเยือนทั้งชาวไทยและต่างชาติ
• ยกระดับความปลอดภัยพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
• ชูจุดเด่นแจ้งเตือนรวดเร็ว-แม่นยำ-ครอบคลุม-มาตรฐานสากล-รองรับทุกภาษา
ภูเก็ต - เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย ร่วมกับ สำนักงาน กสทช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พร้อมกับ จังหวัดภูเก็ต จัดการทดสอบเสมือนจริง ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ หรือ Cell Broadcast Service (CBS) ที่จังหวัดภูเก็ต มุ่งยกระดับความปลอดภัยในเมืองท่องเที่ยวสำคัญของภาคใต้ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มาเยือนทั้งชาวไทยและต่างชาติ พร้อมทั้งทรูในฐานะผู้รับผิดชอบการแจ้งเตือนภัย หรือ Cell Broadcast Center: CBC เตรียมเดินหน้าเชื่อมต่อระบบทดสอบร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเตือนภัย หรือ Cell Broadcast Entity: CBE บนเครือข่ายที่ให้บริการจริง (Live Network) แบบครบวงจร (end-to-end) เพื่อเตรียมความพร้อมอีกขั้นก่อนเปิดให้บริการจริง
จากข้อมูลล่าสุดของ สำนักงานสถิติจังหวัดภูเก็ต ในปี 2566 ระบุว่าภูเก็ตต้อนรับนักท่องเที่ยวรวมสูงถึง 11.3 ล้านคน โดยเป็นชาวต่างชาติ 8.4 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวไทย 2.9 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 388,017 ล้านบาท นับเป็นจังหวัดอันดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงเทพมหานครเท่านั้น นอกจากนี้ ความโดดเด่นของภูเก็ตยังได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เมื่อเว็บไซต์ Bounce จัดอันดับให้เป็น “เกาะท่องเที่ยวที่ดีที่สุด” (The Best Island Destinations) ของโลกในปีนี้ ด้วยความสำคัญดังกล่าว ทรู คอร์ปอเรชั่นจึงร่วมกับ กสทช. ดีอี ปภ. กำหนดภูเก็ตเป็นพื้นที่ทดสอบเสมือนจริงระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน CBS เพื่อเตรียมยกระดับความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มาเยือนเมืองไข่มุกแห่งอันดามัน และเพิ่มศักยภาพความมั่นใจในการเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ หรือ Cell Broadcast Service (CBS) ในการทดสอบเสมือนจริงที่ภูเก็ตว่า “ทรู คอร์ปอเรชั่นภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับ สำนักงาน กสทช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ในการทดสอบเสมือนจริงระบบ CBS ที่ภูเก็ต ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญในการพัฒนาระบบเตือนภัยเพื่อความปลอดภัยของประชาชนไทย การทดสอบครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน และเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการทดสอบเสมือนจริงครั้งแรกในไทยจากทรู คอร์ปอเรชั่นที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
“ภูเก็ตถูกเลือกเป็นจังหวัดที่ 2 ที่จัดทดสอบเสมือนจริงระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ Cell Broadcast Service (CBS) ซึ่งการทดสอบประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อเปิดให้บริการจริงจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในระบบความปลอดภัยให้กับชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยวที่มาเยือน โดยเฉพาะการรับมือกับภัยธรรมชาติทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นคลื่นสูง พายุ หรือสึนามิ ระบบสามารถส่งการแจ้งเตือนแบบทันท่วงทีไปยังมือถือทุกเครื่องในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน พร้อมรองรับการแสดงผลได้ทุกภาษา ทั้งในรูปแบบข้อความ Pop-up และเสียงแจ้งเตือน อีกทั้งยังมีฟีเจอร์ Text to Speech พิเศษสำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลการเตือนภัยได้อย่างทั่วถึง” นายจักรกฤษณ์ กล่าว
ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ หรือ Cell Broadcast Service (CBS) สามารถออกแบบเตือนภัยได้ทุกภาษาที่ตรงกับกลุ่มนักท่องเที่ยวของภูเก็ต นอกจากนี้ ทรูยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ หรือ Business and Network Intelligence Center: BNIC เพื่อเป็น War Room บริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง
ระบบ CBS ที่ทรู คอร์ปอเรชั่นนำมาทดสอบใช้งานมีจุดเด่นสำคัญ 5 ประการ ได้แก่
1.รวดเร็ว - สามารถส่งข้อความเตือนภัยได้ทันทีที่เกิดเหตุ
2.แม่นยำ - สามารถกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการส่งข้อความได้อย่างแม่นยำ
3.ครอบคลุม - ส่งข้อความถึงผู้ใช้บริการทุกคนในพื้นที่เสี่ยงภัยโดยไม่ต้องลงทะเบียน
4.มาตรฐานสากล - เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับและใช้งานในหลายประเทศทั่วโลก
5.รองรับทุกภาษา - สามารถออกแบบการแจ้งเตือนได้ทุกภาษาและส่งพร้อมกันได้ทันที
สำหรับการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือกับผู้ใช้งานจริง หรือ “LIVE – Cell Broadcast Service” ที่ภูเก็ต นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ทัดเทียมนานาประเทศ โดยเป็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างทรู คอร์ปอเรชั่น กสทช. ดีอี และ ปภ. ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว โดยทรูในฐานะ Cell Broadcast Center หรือ CBC จะเตรียมเชื่อมต่อระบบทดสอบร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งทำหน้าที่เป็น Cell Broadcast Entity หรือ CBE บนเครือข่ายที่ให้บริการจริง (Live Network) แบบครบวงจร เพื่อความพร้อมก่อนเปิดให้บริการต่อไป.
นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ (ซ้าย) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล (กลาง) รองเลขาธิการ กสทช. และรักษาการเลขาธิการ กสทช. พร้อม นายโสภณ ทองไสย (ขวา) หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต ร่วมตรวจสอบการทำงานระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ หรือ Cell Broadcast Service (CBS) ก่อนการทดสอบเสมือนจริง ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต