ทำขวัญช้าง ผจญโควิด-19 ตอบแทนบุญคุณเลี้ยงดูคน

หมวดหมู่ : ตรัง, ทั่วไป,

อ่าน : 3,586
ทำขวัญช้าง ผจญโควิด-19 ตอบแทนบุญคุณเลี้ยงดูคน

        การทำขวัญช้างในครั้งนี้ นายเหม เหมรัตน์ อายุ 93 ปี เจ้าของช้างมากที่สุดในจังหวัดตรัง อยู่บ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 5 ต.ในควน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ได้ประกอบพิธีทำขวัญช้างหรือพิธีเลี้ยงช้างประจำปี 2564 ซึ่งเป็นประเพณีปฎิบัติที่สืบทอดกันมานานกว่า 50 ปีแล้ว เมื่อตอนสายวันที่ 24 เม.ย.2564 โดยในปีนี้มีช้างมาร่วมพิธีจำนวน 7 เชือก จากทั้งหมดกว่า 10 เชือก เนื่องจากหลายเชือกยังตกค้างอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยว ไม่สามารถขนย้ายกลับมาร่วมพิธีได้ทัน

        นายเหม เจ้าของช้างมีความเชื่อว่า ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เมื่อนำช้างมาใช้งานแล้ว จะต้องมีการทำขวัญช้างด้วยการพาไปอาบน้ำ ขัดสีฉวีวรรณ ก่อนจะนำมากินอาหารที่เตรียมไว้แบบบุฟเฟต์ ซึ่งมีทั้งกล้วย อ้อย แตงโม และผลไม้ชนิดต่างๆ เป็นการตอบแทนบุญคุณของช้างที่ทำให้มีงาน มีรายได้ สามารถเลี้ยงดูครอบครัวและเป็นมรดกสืบต่อมาจนถึงลูกหลานในปัจจุบัน ซึ่งในวันนี้มีผลไม้น้ำหนักกว่า 2 ตันมาให้ช้างทั้ง 7 เชือกได้กินจนอิ่มหนำสำราญ

        นอกจากนี้ยังเชื่อว่าพิธีทำขวัญช้างด้วยการไหว้ครูบาอาจารย์ ประพรมน้ำมนต์และเจิมหน้าผาก จะทำให้ช้างแสนเชื่อง เลี้ยงง่าย ไม่ดุร้าย และทำมาหากินคล่องขึ้นหรือไม่ตัดขัดตลอดทั้งปี ซึ่งประเพณีดังกล่าวจัดขึ้นในช่วงข้างขึ้นเดือน 6 ของทุกปี ซึ่งปีนี้เจ้าของช้างและลูกหลานไม่ได้เชิญชวนประชาชนไปร่วมงานเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงมีแต่บรรดาชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงที่จูงลูกหลานและพร้อมใจกันสวมหน้ากากอนามัยมาถ่ายภาพกันอย่างคึกคัก แต่ไม่เกิน 30 คน ท่ามกลางมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ช้างพังใบตอง อายุประมาณ 32 ปี กำลังกินอาหารอย่างเพลิดเพลินอยู่นั้น ปรากฏว่าได้มีฟันกรามหักร่วงลงมาบนพื้นดิน น้ำหนักประมาณ 2-3 กรัม ท่ามกลางความตื่นเต้นของชาวบ้านที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับพิธีเรียกขวัญช้างหรือพิธีเลี้ยงช้างในปีนี้

        ด้าน นายเหม เหมรัตน์ อายุ 93 ปี เจ้าของช้าง กล่าวว่า เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาทุกปี เพราะเป็นของรักของหวง เชื่อว่าจะมีโชคลาภและทำมาทุกปีแต่ 2 ปีที่แล้วติดโควิดทำให้เว้นไป 1 ปี ปีนี้ยุ่งแต่ก็ต้องทำ ในช่วงโควิด-19 ปีนี้ก็กระทบทุกอย่างขาดรายได้หลายบาท แต่ต้องอยู่กันต่อไป แต่ไม่คิดจะขายหรือซื้อเพิ่ม อยู่กันไปเรื่อยๆ โดยตนเลี้ยงช้างมาประมาณ 50-60 ปีแล้ว ทำให้มีความผูกพันเป็นอย่างมาก.