ทีมสอบสวนใช้แนวทางคดีลักรังนกฯ สาวถึงผู้ร่วมทุจริตเงินสหกรณ์ ตร.พัทลุง
หมวดหมู่ : พัทลุง, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 11 เม.ย. 2565, 11:57 น. อ่าน : 855พัทลุง-ตำรวจนำแนวทางการคลี่คลายคดีรังนกอีแอ่นมาใช้ในการคลี่คลายคดีทุจริตเงินสหกรณ์ ด้านสมาชิกสหกรณ์ฯออกมาแฉมี จนท.รัฐบางรายวิ่งเต้นเข้ามาตรวจงบดุลของสหกรณ์ฯ
กลายเป็นคดีมหากาพย์อีกคดี การทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง จำกัด วงเงินไม่น้อยกว่า 1,450 ล้านบาท ซึ่ง ผบ.ตร.ส่ง พล.ต.ท. สุรเชษฐ หักพาล ผช.ผบ.ตร.มาคุมคดี พร้อมนำชุดสืบสวนสอบสวนคดีลักรังนกพัทลุงพร้อมตำรวจมือดีมาร่วมทำคดี ได้มอบหมายและสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดอย่างเฉียบขาด ล่าสุดพบว่ามีกลุ่มคณะกรรมการดำเนินงานของสหกรณ์ฯและคณะผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยที่จะถูกออกหมายจับประมาณ 80 ราย ทำให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวที่มั่นใจว่าตนเองไม่มีส่วนร่วมในการทุจริตวิ่งเข้าขอความเป็นธรรมกับผู้บังคับบัญชาในระดับสูง ด้านสมาชิกสหกรณ์ฯออกมาประกาศจะไม่รับรองงบดุลการเงิน/บัญชีของสหกรณ์ในครั้งต่อไป ตามข่าวที่เสนอมาแล้วนั้น
ความคืบหน้าเรื่องนี้ พล.ต.ต.ไพโรจน์ กุจิระพันธ์ ผบก.อธ. หรือ “ ผู้การรังนก “ ซึ่งได้รับมอบหมายจากพล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร. เข้ามาให้การช่วยเหลือการคลี่คลายคดีการทุจริตสหกรณ์ตำรวจฯ หลังจากปิดคดีรังนกสำเร็จ เปิดเผยว่า แนวทางการคลี่คลายคดีทุจริตสหกรณ์ฯนั้นได้ยึดแนวทางการสอบสอบของคดีรังนกมาเป็นแนวทางสำคัญ โดยในเบื้องต้นจะเรียกผู้เกี่ยวข้องที่สงสัยว่าน่าจะมีส่วนในการทุจริตมาเป็นพยาน จากนั้นก็ขยายผลไปสู่การรวบรวมเอกสาร หลักฐาน มาประกอบสำนวนคดี อาทิ เช็คธนาคาร หลักฐานการโอนเงิน และบันทึกวาระการประชุมในแต่ละครั้ง ซึ่งหลักฐานดังกล่าวกลุ่มผู้ต้องสงสัยจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ หลายคนปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นแต่หาเอกสาร พยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองไม่ได้ โดยเฉพาะเช็คธนาคาร และหลักฐานการโอนเงินนั้นเป็นหลักฐานสำคัญที่กลุ่มผู้ต้องสงสัยจะปฏิเสธไม่ได้
พล.ต.ต.ไพโรจน์กล่าวอีกว่า ผู้ต้องสงสัยส่วนใหญ่จะออกมาปฏิเสธการกระทำความผิดของตนเอง พนักงานสอบสวนก็จะให้ความเป็นธรรมกลุ่มผู้ต้องสงสัยทุกราย แต่หากพบว่ามีพยาน เอกสาร หลักฐาน เชื่อมโยงไปถึงผู้ต้องสงสัยรายใด ที่พนักงานสอบสวนเชื่อได้ว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดก็จะถูกออกหมายจับทุกราย โดยเฉพาะในปี 2555 – 2564 ที่มีกลุ่มคณะกรรมการดำเนินงานของสหกรณ์ฯและคณะผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ จำนวน 5 ชุดบางรายมีชื่อซ้ำซ้อนกันนั้น หากพบว่าคนไหนมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดก็ยากที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบของตนเองได้ ทางพนักงานสอบสวนจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียด และรอบคอบที่สุด
ทางด้านสมาชิกสหกรณ์ฯรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ตนอยากเห็นแนวทางการแก้ปัญหาการทุจริตและการนำกลุ่มผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายทุกคน เพื่อให้สหกรณ์ตำรวจพัทลุงเป็นต้นแบบในการดำเนินงานของสหกรณ์ที่โปร่งใส พร้อมกันนั้นก็ขอให้พนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ จนท.ส่งเสริมสหกรณ์บางรายที่น่าจะมีส่วนร่วมในการทุจริตเงินสหกรณ์ฯในครั้งนี้ด้วย เนื่องจากตนสืบทราบว่ามี จนท.ส่งเสริมสหกรณ์ฯรายหนึ่ง ได้ไปพบกับนักการเมืองท้องถิ่นคนดัง เพื่อประสานงานกับผู้บังคับบัญชาในการผลักดันให้ จนท.ส่งเสริมสหกรณ์ฯคนดังกล่าวเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบงบดุลการเงินและบัญชีของสหกรณ์ตำรวจฯ และตนมั่นใจว่าหากจนท.รัฐผู้ทำหน้าที่ตรวจบัญชีสหกรณ์ที่มีองค์ความรู้ ประสบการณ์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงก็ยากที่จะเกิดการทุจริตขึ้นในสหกรณ์ตำรวจฯได้ จึงขอให้พนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย
ส่วนอดีตข้าราชการรายหนึ่งที่มีความรู้ ประสบการณ์ด้านสหกรณ์ เผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเห็นด้วยกับแนวทางของนายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในการเรียกผู้สอบบัญชีเอกชนซึ่งทำหน้าที่ตรวจบัญชีของสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำกัด มาชี้แจงหากพบว่าผู้สอบบัญชีปฏิบัติไม่เป็นไปตามมาตรฐานการสอบบัญชีและระเบียบที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด หน่วยงานที่รับผิดชอบจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการจรรยาบรรณพิจารณาบทลงโทษ โดยไม่ละเว้น และตนก็อยากจะให้อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ขยายเรื่องดังกล่าวไปยังสหกรณ์ต่างๆทั่วประเทศด้วย โดยเฉพาะการทุจริตของสหกรณ์ตำรวจพัทลุง เพราะตนคิดว่าผู้สอบบัญชีเอกชนบางรายน่าจะมีส่วนรู้เห็นและได้รับผลประโยชน์จากการทุจริตในสหกรณ์ฯในครั้งนี้ด้วย ข่าวคืบหน้าจะเสนอต่อไป.