ธปท.สภต.สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ไตรมาสที่ 3 ปี 2563

หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, สงขลา, ทั่วไป, ภาคใต้,

อ่าน : 937
ธปท.สภต. ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 3 ปี 2563
ธปท.สภต.สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ไตรมาสที่ 3 ปี 2563

        ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ สรุปภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ว่า มีการหดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ เกษตรกร ทำให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูง สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น ด้านอุปสงค์ต่างประเทศฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว และการผลิตในบางหมวดสินค้าปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตามการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมหดตัวจากหมวดยางพาราแปรรูปเป็นสำคัญ สำหรับภาคท่องเที่ยวจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงหดตัวสูง อย่างไรก็ดีการท่องเที่ยวในประเทศทยอยฟื้นตัว ผลดีจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐ

        ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ โดยราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าไฟฟ้าและน้ำประปากลับเข้าสู่อัตราปกติ หลังสิ้นสุดมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ ด้านตลาดแรงงานยังคงเปราะบางจากผลกระทบของ COVID-19

        รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้

        การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในประเทศเป็นสำคัญ ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมถึงรายได้เกษตรกรปรับดีขึ้น จึงช่วยพยุงกำลังซื้อได้บางส่วน ทั้งนี้ การใช้จ่ายสินค้าหดตัวน้อยลงในเกือบทุกหมวดการใช้จ่าย โดยเฉพาะหมวดบริการของนักท่องเที่ยวชาวไทย และหมวดยานยนต์ที่ได้รับอานิสงส์จากความต้องการซื้อรถของผู้บริโภคบางกลุ่มที่ยังมีตั้งแต่ช่วง COVID-19 ประกอบกับโรงงานผลิตรถเริ่มกลับมาผลิตและส่งมอบได้ตามปกตินอกจากนี้ การใช้จ่ายหมวดสินค้าในชีวิตประจำวันปรับดีขึ้นเช่นกัน

        ด้านผลผลิตเกษตร หดตัวจากไตรมาสก่อน โดยผลผลิตยางพารายังคงหดตัว จากฝนที่ตกชุกกว่าปีก่อนและขาดแคลนแรงงานกรีดยาง ประกอบกับผลผลิตปาล์มน้ำมันกลับมาหดตัว จากผลกระทบของภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ผลผลิตกุ้งขาวกลับมาหดตัวเช่นกัน จากความผันผวนด้านราคาในช่วงก่อนหน้าที่มีการระบาดของ COVID-19 รุนแรง เกษตรกรจึงลดการลงลูกกุ้ง อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าเกษตร ขยายตัวดีในทุกสินค้าหลัก ตามปริมาณผลผลิตที่ลดลง ส่งผลให้ รายได้เกษตรกร ขยายตัวจากไตรมาสก่อน

        การใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัวสูงจากไตรมาสก่อน ตามรายจ่ายลงทุนที่กลับมาขยายตัวสูง จากการเบิกจ่ายของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน รวมถึงการเบิกจ่ายหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นสำคัญ ขณะที่รายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวดี ตามการเบิกจ่ายที่ลดลงในหมวดงบรายจ่ายอื่น ทั้งนี้การใช้จ่ายภาครัฐตลอดปีงบประมาณ 2563 ลดลงจากปีงบประมาณ 2562 ร้อยละ 2.7 ตามการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ลดลงเป็นสำคัญ

        การลงทุนภาคเอกชน ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยการนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวเล็กน้อย ตามการนำเข้าเครื่องจักรของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูปและถุงมือยาง สอดคล้องกับภาวะการผลิตในอุตสาหกรรมดังกล่าว ด้านการลงทุนในภาคก่อสร้างปรับดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากมูลค่าการจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศในหมวดเครื่องจักรและวัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้าง สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายปูนที่กลับมาขยายตัว เช่นเดียวกับการลงทุนใน ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังขยายตัวได้ แม้จะชะลอลง จากความต้องการซื้อที่ยังมีอยู่

        มูลค่าการส่งออกสินค้า กลับมาขยายตัวจากไตรมาสก่อน จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค COVID-19 ในต่างประเทศ ส่งผลต่อเนื่องให้ การผลิตภาคอุตสาหกรรม ในหลายหมวดปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะไม้ยางพาราแปรรูป และถุงมือยาง อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมกลับมาหดตัวจากไตรมาสก่อน ตามการผลิตยางพาราแปรรูปที่ลดลงเป็นสำคัญ เนื่องจากมีการเร่งผลิตและส่งสินค้าที่เป็นคำสั่งซื้อตกค้างตั้งแต่ช่วงก่อน COVID-19 ไปแล้วในไตรมาสก่อนหน้า ทั้งน้ำยางข้น และยางผสมสารเคมี

        จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ หดตัวสูงต่อเนื่อง เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวในประเทศ ทยอยฟื้นตัว โดยได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐ รวมถึงมีวันหยุดยาวหลายช่วง

        เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบน้อยลงอยู่ที่ร้อยละ -1.44 จากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าไฟฟ้าและน้ำประปากลับเข้าสู่อัตราปกติ หลังสิ้นสุดมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ ด้านตลาดแรงงาน ยังคงเปราะบางจากผลกระทบของ COVID-19 ส่วนหนึ่งสะท้อนจากผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน

        ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เงินฝากคงค้างของสถาบันการเงินขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนโดยขยายตัวทั้งเงินฝากของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งมาจากสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องของธุรกิจ.







อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :