นครศรีฯ จัดงาน “มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ปี 2566” อย่างยิ่งใหญ่

หมวดหมู่ : นครศรีธรรมราช, ทั่วไป,

อ่าน : 495
วันมาฆบูชา จัดงานมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประจำปี 2566
นครศรีฯ จัดงาน “มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ปี 2566” อย่างยิ่งใหญ่

นครศรีธรรมราช-จังหวัดนครศรีธรรมราช เตรียมจัดงานมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประจำปี 2566 อย่างยิ่งใหญ่ระหว่างวันที่ 2-6 มีนาคม 2566 เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา ซึ่งวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม


       เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผวจ.นครศรีธรรมราช เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประจำปี 2566 ที่บริเวณลานโพธิ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราชโดยมี วัฒนธรรมจังหวัด  ผอ.สนง.พระพุทธศาสนาจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช  นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด  ประธานหอการค้าจังหวัด และผอ.ททท.สนง.นครศรีธรรมราช ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน


       สำหรับปีนี้จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดงานมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุนานาชาติที่เมืองนคร โครงการพระบรมธาตุมรดกธรรม มรดกโลก เชื่อมเส้นทางศรีวิชัยเปิดประตูประชาคมอาเซียน จัดกิจกรรมสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาระหว่างวันที่ 2-6 มีนาคม 2566 ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมืองฯ  ทั้งนี้เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา ซึ่งวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม 


       ประเพณีมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ เป็นงานประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ โดยพุทธศาสนิกชนทั้งจากจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึง พุทธศาสนิกชนชาวจีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่นิยมเดินทางมาสักการะบูชากันอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ถือว่าเป็นงานมหากุศลบุญใหญ่แห่งปี ที่พี่น้องชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สืบทอดมายาวนานและมีการอนุรักษ์เพื่อให้คงอยู่สืบไป 


       จากตำนานของประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุมีอยู่ว่า ในสมัยที่พระเจ้าสามพี่น้อง คือพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังดำเนินการสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบยาวชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีลายเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ (เรียกว่า พระบฎ หรือ พระบต) ขึ้นที่ชายหาดปากพนัง ชาวบ้านจึงนำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์จึงรับสั่งให้ซักจนสะอาด แต่ลายเขียนพุทธประวัติก็ไม่ลบเลือน ยังคงสมบูรณ์ดีทุกประการ จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ จนได้ความว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง จะเดินทางไปลังกา เพื่อนำพระบฎไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุ คือพระเขี้ยวแก้ว (พระทันตธาตุเบื้องซ้าย) แต่เรือถูกมรสุมซัดแตกที่ชายฝั่งเมืองนคร มีผู้รอดชีวิต 10 คน ส่วนพระบฏถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งปากพนัง 


       พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ทรงพิจารณาเห็นว่าควรจะนำขึ้นไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ เจ้าของพระบฎที่รอดชีวิตก็ยินดีด้วย จึงโปรดให้ชาวเมืองนครจัดเครื่องประโคมแห่แหนผ้าห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ และเป็นประเพณีที่ได้ปฏิบัติต่อเนื่องจนเป็นงานประจำเมืองมาจนถึงปัจจุบัน


       ส่วนกิจกรรมภายในงาน จะประกอบด้วย กิจกรรมสมโภชผ้าพระบฏพระราชทาน พิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันมาฆบูชา พิธีอัญเชิญและถวายผ้าพระบฏพระราชทาน กิจกรรมประดับตกแต่งเมืองด้วยผ้าพระบฎ กิจกรรมสวดพระด้าน กิจกรรมสวดมนต์เจริญจิตตภาวนา กิจกรรมกวนข้าวยาคู และพิธีเวียนเทียนเนื่องในวันมาฆบูชา กิจกรรมเสวนาองค์ความรู้เรื่องเล่าผ้าพระบฏมหกรรมเครื่องถม  "ชมหลาดถมนคร" ชมการแสดงมโนราห์บูชาพระธาตุ และการแสดง โขนเพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช มานะ มานคร มหาศรัทธามาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ 2-6 มีนาคม 2566


       พิธีเชิญผ้าพระบฏพระราชทาน จำนวน 5 ผืน ประกอบด้วย ผ้าพระบฏพระราชทานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผ้าพระบฏพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผ้าพระบฏพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ผ้าพระบฏพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และผ้าพระบฏพระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประกอบพิธีทางศาสนา อัญเชิญผ้าพระบฏพระราชทานถวายองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมจัดพิธีบูชาเวียนเทียนเนื่องในวันมาฆบูชาต่อเนื่องด้วย


       นอกจากนี้ ททท.สนง.นครศรีธรรมราช ร่วมกับจังหวัดนครศรีธรรมราช วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนกำหนดจัดงานมาฆะบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประจำปี 2566 ขึ้น ระหว่างวันที่ 2-6  มีนาคม 2566 ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร  อ.เมือง  จ.นครศรีธรรมราช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา และร่วมอนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์สืบทอดมาอย่างยาวนานกว่า 800 ปี ของเมืองนครฯ ได้มีโอกาสร่วมกันทำบุญและกิจกรรมทางธรรมในวันมาฆบูชา โดยน้อมนำธรรมโอวาทปาติโมกข์ไปสู่การปฏิบัติ  และหนุนเสริมกิจกรรมยกระดับให้เป็นงานบุญระดับนานาชาติและสนับสนุนการนำเสนอพระบรมธาตุเจดีย์เข้าสู่บัญชีมรดกโลก                


       นางพิชญ์สินี ทัศน์นิยม ผอ.ททท. สนง.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในปีนี้มีการบูรณาการจัดให้มีกิจกรรมหลากหลายจากทุกภาคส่วน อาทิ พิธีสวดด้าน, สวดมนต์ฟังธรรม เจริญจิตภาวนา ถวายเป็นพุทธบูชา, กิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันมาฆบูชา, มหกรรมเครื่องถมนครฯ “ชมหลาด ถมนครฯ”,  การเสวนา : “เครื่องถมเมืองนครฯ”, พิธีกวนข้าวมธุปายาสยาคู, การเสวนา : “ตำนานเรื่องเล่าผ้าพระบฏ”, พิธีสมโภชผ้าพระบฏพระราชทาน, ริ้วขบวนผ้าพระบฏพระราชทาน, พิธีถวายผ้าพระบฏ, การแสดงศิลปวัฒนธรรม “โนราบูชาพระธาตุ” เป็นพุทธบูชา, พิธีทำบุญตักบาตร, พิธีเวียนเทียนมาฆบูชา  เป็นต้น 


       สำหรับไฮไลที่ ททท. จัดหนุนเสริมการจัดงานในครั้งนี้ด้วยชุดการแสดงโขนยิ่งใหญ่ตระการตา กำหนดให้มีพิธีเปิดและกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรม “มาฆะ มานะ มานครฯ” เพื่อแสดงความเป็นอัตลักษณ์และวิถีไทย จำนวน 2 ชุด ได้แก่ การแสดงโขน เรื่อง “รามเกียรติ์” ชุด “พรหมพงศ์ วงศ์อสุรา” ตอน นารายณ์ปราบนนทุก (ภาคสวรรค์) ขับพิเภก พุ่งหอกกบิลพัสดุ์ จากคณะนักแสดงวิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช โดยมี นายอภินันท์ เผือกผ่องผวจ.นครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และมีกิจกรรม ผู้ว่าฯ ชวนทอล์ค “มาฆะ มานะ มานครฯ” ในวันที่ 4 มีนาคม 256 และการแสดงนาฏศิลป์ไทยสร้างสรรค์ จากโรงเรียนสตรีทุ่งสง ในวันที่ 5 มีนาคม 2566 ณ บริเวณวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเดินทางเข้ามาร่วมงานอย่างคับคั่ง


        ”กิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมอัตลักษณ์ถิ่นและวิถีไทย  ตลอดจนสร้างสีสันภายในงานและสามารถกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเข้าพื้นที่ส่งผลให้มีรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมได้เป็นอย่างดียิ่ง จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนและ นักท่องเที่ยว หรือผู้ที่สนใจมาร่วมสืบสานงานประเพณีเก่าแก่นี้ด้วยกัน ตลอดจนขอความร่วมมือพี่น้องชาวนครศรีธรรมราชร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดีแสดงมิตรไมตรีต้อนรับนักท่องเที่ยวและแขก  ผู้มาเยือนอันจะนำพาสู่ความประทับใจและกลับมาเยือนนครศรีธรรมราชในโอกาสภายหน้าสืบต่อไปในอนาคต” นางพิชญ์สินีกล่าว.