พัทลุง-“ นิพิฏฐ์ “ แจ้งให้ชาวพัทลุงจับตามองการสัมปทานรังนกอีกแอ่น เพราะเป็นผลประโยชน์ของชาวพัทลุง ส่วนคณะกรรมการกำหนดราคากลางก็ต้องตอบข้อสงสัยของชาวบ้านได้ว่าทำไมตั้งราคาไว้สูงเช่นนี้ ทั้งกรณีมีผู้มีคนประมูลและไม่มีคนประมูล
กรณีสัญญาการประมูลการจัดเก็บรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุงได้สิ้นสุดลง นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง ได้ออกมาประกาศของคณะกรรมการรังนกฯ โดยกำหนดระยะเวลาให้สัมปทาน 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2564 – 14 มิถุนายน 2569 ในราคากลาง 500 ล้านบาท และประกาศขายซองเอกสารการประมูลรังนกฯในราคาซองละ 30,000 บาท แต่ก็ยังไม่มีการซื้อเอกสารประมูลเงินอากรรังนกฯ แม้แต่รายเดียว ทางด้านคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกฯจึงมีมติให้คณะกรรมการกำหนดราคากลาง ซึ่งมีนายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง เป็นประธาน ได้เรียกประชุมคณะกรรมการกำหนดราคากลางขึ้น ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีความเห็นของราคากลางเป็น 450 ล้านบาท และ 500 ล้านบาท ในเสียง 6/6 นายวิสุทธิ์ฯจึงได้ลงคะแนนให้ราคากลางอยู่ที่ 500 ล้านบาทเหมือนเดิม
ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการรังนกฯเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบราคากลาง 500 ล้านบาท และยังมีมติลดราคาซองเอกสารการประมูลรังนกฯ ให้เหลือซองละ 10,000 บาท และลดหลักประกันสัญญาของผู้ที่ชนะการประมูลรังนกฯจากร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 30 ขายซองเอกสารตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2564 - 12 พฤษภาคม 2564 และยื่นซองประมูลรังนกฯในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 10.00 น. ณ หอประชุมจังหวัดพัทลุง บริเวณศาลากลางจังหวัดพัทลุง และจะเปิดซองการประมูลในวันเดียวกัน( 14 เม.ย.)
เวลา12.00 น. ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น
เกี่นวกับเรื่องนี้นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. บุคคลสำคัญของพรรค ปชป. ที่ร่วมกันขับเคลื่อนการออก พรบ.รังนกอีแอ่น จนประสบความสำเร็จ เปิดเผยว่า เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย และเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของชาวพัทลุง คณะกรรมการจะต้องตอบข้อคำถามชาวพัทลุงว่าทำไมจึงกำหนดราคากลางเป็น 500 ล้านบาท ทั้งๆที่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาราคากลางอยู่ที่ 450 ล้านบาท จนนำไปสู่การประมูลได้ในราคากลางดังกล่าว การตรวจสอบข้อมูลสถิติการจัดเก็บรังนกนั้น ตนเห็นว่าน่าจะต้องคิดตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมาว่าในแต่ละปีจำนวนรังนกทั้ง 3 ชนิด เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร จะนำสถิติข้อมูลการจัดเก็บรังนก 5 ปีที่ผ่านมามาเป็นหลักการและเหตุผลที่สำคัญในการกำหนดราคากลางคงไม่ถูกต้อง เพราะหากไม่มีใครเข้ามาประมูลการสัมปทานรังนกฯ ความเสียหายของ จ.พัทลุง ก็จะเกิดขึ้นอย่างมากมาย
นายนิพิฏฐ์กล่าวอีกว่า คณะกรรมการกำหนดราคากลางทั้ง 6 คน ที่ได้กำหนดราคากลางไว้ที่ 450 ล้านบาท แต่แพ้เสียงโหวตในที่ประชุมนั้น บุคคลเหล่านี้จะต้องตอบคำถามของชาวพัทลุงได้ว่าเหตุผลอันใดที่ได้กำหนดราคากลางไว้ที่ราคา 450 ล้านบาท เหมือนกับการสัมปทานรังนกฯในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และหากว่าการสัมปทานรังนกฯในปีนี้ได้ราคากลาง 500 ล้านบาทที่กำหนดไว้ คณะกรรมการการกำหนดราคากลางที่ 450 ล้านบาท ก็จะต้องพิจารณาตัวเองด้วย และหากว่าคณะกรรมการที่กำหนดราคากลาง 450 ล้านบาท เป็นคณะกรรมการในสัดส่วนของ อบจ.พัทลุง ทาง อบจ.พัทลุง ก็ไม่ควรให้คณะกรรมการดังกล่าวเข้ามาเป็นคณะกรรมการกำหนดราคากลางในครั้งต่อไป และประการสำคัญก็คือเมื่อการสัมปทานรังนกฯสิ้นสุดลงจนเกิดช่องว่างบนเกาะรังนกทั้ง 7 เกาะนั้น ทางจังหวัดจะวางมาตรการและเฝ้าระวังการลักรังนกกันอย่างใร พร้อมทั้งขอให้ชาวพัทลุงเข้ามาจับตา ติดตามความเคลื่อนไหว ของการสัมปทานรังนกฯในครั้งนี้ด้วย เนื่องจากเป็นประโยชน์ร่วมกันของชาวพัทลุงทั้งจังหวัด.