“นิพิฏฐ์”เดินหน้าผลักดันแก้ พ.ร.บ.รังนกฯ ให้นำเงินมาพัฒนาจังหวัดได้เต็มที่
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, พัทลุง, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 25 ส.ค. 2564, 10:35 น. อ่าน : 1,249พัทลุง-“ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” เตรียมยื่นหนังสือถึง ผวจ.พัทลุง เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายในการแก้ปัญหา พ.ร.บ.รังนกฯ ปี 2540 นำเงินรายได้ไปสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างรูปธรรม
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้การสัมปทานรังนกอีแอ่น จ.พัทลุง ได้ผู้ประมูลในราคา 400 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปีไปแล้ว ตนจะได้มีหนังสือถึงนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง เพื่อให้ทางจังหวัดได้เป็นเจ้าภาพในการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในการแก้ไข พ.ร.บ.รังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 เนื่องจากในระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมานั้นจังหวัดพัทลุงมีรายได้จากเงินอากรรังนกฯมากถึง 1,659 ล้านบาท หากรวมกับการสัมปทานล่าสุดจังหวัดฯมีรายได้มากถึง 2,059 ล้านบาท
แต่ในรอบ 17 ปีที่ผ่านมานั้นเงินอากรรังนกยังไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชาวพัทลุงที่เป็นรูปธรรมทั้งในวันนี้และในอนาคต ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ชาวพัทลุงทุกฝ่ายจะได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นการแก้ไข พ.ร.บ.รังนกฯ หากทุกฝ่ายเห็นด้วยกับการแก้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ตนจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการทำหนังสือการขอแก้ไข พ.ร.บ.รังนกไปยังพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อขอสนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อไป
นายนิพิฏฐ์ กล่าวอีกว่า เงินอากรรังนกที่มีมูลค่ามากนั้น น่าจะนำไปใช้การดำเนินงานโครงการด้านต่างๆที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ของชาวพัทลุงโดยภาพรวม ซึ่งไม่สามารถนำงบประมาณประจำปีของรัฐบาลมาดำเนินการได้ เนื่องจากต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก อาทิ การจัดตั้งวิทยาลัยแพทย์ การจัดตั้งศูนย์แพทย์ การจัดตั้งศูนย์รักษา พยาบาลที่ต้องใช้ความชำนาญด้านการแพทย์ ศูนย์อุบัติเหตุ ศูนย์โรคหัวใจ การสนับสนุนส่งด้านการท่องเที่ยวและกีฬา ฯลฯ ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการใช้เงินอาการรังนกหลังจากการแก้ไข พรบ.รังนกฯสำเร็จนั้นก็ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด และให้มีการจัดคณะกรรมการการดำเนินงานการใช้จ่ายเงินดังกล่าว โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนภาคประชาชน องค์กรกครองท้องถิ่น จนท.รัฐ ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย
“ผมมั่นใจว่าหากแก้ไข พ.ร.บ.รังนกฯสำเร็จ และนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ต่อส่วนรวมที่เป็นรูปธรรมแล้ว จะเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่จะทำให้ชาวพัทลุงได้ร่วมกันรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่ล้ำค่าของจังหวัด และร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมให้ทรัพยากรดังกล่าวตกทอดสู่คนอนุชนคนรุ่นหลังสืบไป” นายนิพิฏฐ์กล่าวย้ำ.