นิสิตแพทย์แผนไทย ม.ทักษิณ-พัทลุง ชนะเลิศ ความคิดผลิตภัณฑ์ดี

หมวดหมู่ : พัทลุง, ทั่วไป,

อ่าน : 459
นิสิตการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง คว้ารางวัลชนะเลิศ Best of the best ระดับประเทศ
นิสิตแพทย์แผนไทย ม.ทักษิณ-พัทลุง ชนะเลิศ ความคิดผลิตภัณฑ์ดี

พัทลุง-นิสิตการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง คว้ารางวัลชนะเลิศ  Best of the best ระดับประเทศ ประเภทคิดดี นำเกล็ดปลาที่เหลือทิ้งจากวิสาหกิจชุมชน มาแปรรูปเป็นภัณฑ์บำบัดรักษาตามแบบแพทย์แผนไทย สร้างมูลค่าต่อชุมชนอย่างยั่งยืน


ดร.วัลลภา เชยบัวแก้ว คณบดีคณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง  เปิดเผยว่า  ตามที่ธนาคารออมสินได้จัดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ระดับประเทศ ประจำปี 2565  โดยมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วม 65 สถาบันการศึกษา มีทีมนิสิตนักศึกษา 335 ทีม กลุ่มชุมชน 335 ชุมชน  เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้ร่วมพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน  โดยสถาบันการศึกษาจะคัดเลือกทีมที่ดีที่สุดของแต่ละสถาบันเพื่อเข้าประกวดรางวัลชนะเลิศ  Best of the best ระดับประเทศในครั้งนี้ ซึ่งแบ่งการประกวดออกเป็น 6 กลุ่มประเภทได้แก่ กินดี อยู่ดี สวยดี ใช้ดี รักษ์ดี คิดดี 


มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุงได้ส่ง"ทีม TTM Wonderful patches" ซึ่งเป็นนิสิตจากสาขาวิชาการแพทย์แผนไทย คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา เข้าร่วมเข้าประกวดระดับประเทศ และได้รับรางวัลชนะเลิศ  Best of the best ระดับประเทศ ประเภทคิดดี 


ทีมนิสิตสาขาดังกล่าว นำโดย อ.ดร.วัลลภา เชยบัวแก้ว คณบดีคณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬาอ.ดร.พท.พิรุณรัตน์ แซ่ลิ้ม อาจารย์ที่ปรึกษาหลักของทีม และ นิสิตสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยทีมดังกล่าว ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพบ่อน้ำร้อนกันตัง จังหวัดตรัง ได้เข้าร่วมงานนำเสนอผลสัมฤทธิ์โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เมื่อวันที่  23 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา  และได้รับโล่เกียรติยศ รางวัล Best of the Best ระดับประเทศ ประจำปี 2565  จากนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่หอประชุมบุรฉัตร ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ  เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


สำหรับกระบวนการทำงานของทีม TTM Wonderful Patches  เป็นกระบวนการทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและนิสิตในการร่วมแก้ปัญหาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพบ่อน้ำร้อนกันตัง ในการตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ไปเยี่ยมชมบ่อน้ำร้อนกันตัง และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ  การให้บริการนวดแผนไทย และสปา  เพื่อสร้างงานสร้างรายได้แก่ชาวบ้านในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง 


ทางวิสาหกิจชุมชนได้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพที่ได้รับเครื่องหมาย BIO Economy และได้รับการรับรองจาก อย. มีส่วนผสมของน้ำพุร้อน และพืชสมุนไพรในท้องถิ่น มีทั้งผลิตภัณฑ์หลัก ๆ 4 ผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย โลชั่นบำรุงผิว ครีมนวดสปาตัว มาร์คโคลน และสเปรย์บำรุงผิวหน้า  ซึ่งผลิตภัณฑ์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวและผู้ที่มาใช้บริการ ทางวิสาหกิจชุมชนจึงต้องการผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ๆ ที่มีเอกลักษณ์เด่นมาเพื่อใช้และจัดจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ


นอกเหนือจากบริการดังกล่าวแล้ว ทางวิสาหกิจชุมชน ยังเป็นตัวกลางในการจัดจำหน่ายอาหารทะเลทั้งในรูปแบบสดและแช่แข็ง ซึ่งในแต่ละเดือนมียอดสั่งซื้ออาหารทะเลจำพวกปลาอยู่ที่ประมาณ 100 กิโลกรัม มีทั้งปลาขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก เช่น จะระเม็ด ปลากะพงขาวใหญ่ ปลานิล ปลาอินทรีย์ ในการขายปลาแต่ละครั้ง มีเกล็ดปลาที่เหลือทิ้งจำนวนมาก 


ดังนั้นทีมนิสิตและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยทักษิณ จึงได้นำเกล็ดปลาที่เป็นสิ่งเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจ BCG โดยจะพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปเกล็ดปลาเหลือทิ้งให้เป็นแผ่นแปะ แก้ปวด Green Product เพื่อสร้างมูลค่าต่อชุมชนอย่างยั่งยืน ถือเป็นการประยุกต์ใช้เกล็ดปลาเหลือทิ้ง และผสมผสานการบริการของวิสาหกิจชุมชนเข้าด้วยกัน ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์แผ่นแปะสมุนไพรว่านเอ็นเหลืองสำหรับลดอาการปวดเมื่อยในนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจโดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าจากสิ่งเหลือใช้ จนสามารถสร้างงานสร้างรายได้จากการขายเกล็ดปลาในขั้นที่น่าพอใจยิ่ง.










อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :