บรรยากาศงานประเพณีลอยกระทง จ.สงขลา ประจำปี 2563

หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป,

อ่าน : 1,506
เทศบาลนครสงขลา ประจำปี 2563 ประเพณีลอยกระทง
บรรยากาศงานประเพณีลอยกระทง จ.สงขลา ประจำปี 2563

        เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ที่บริเวณสระบัว แหลมสมิหลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เทศบาลนครสงขลา กำหนดจัดงานประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2563 โดยมี นายวงศกร นุ่นชูคันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ดร.สมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล ประชาชนชาวสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งนักท่องเที่ยวมาร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทงในปีนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทงที่นำมาลอยจะทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง หยวกกล้วย กลีบดอกไม้ ใบไม้ ขนมปังสีสันสวยงามหลากหลายรูปแบบ โดยภายในงานมีการแสดงบนเวที การประกวดหนูน้อยนพมาศ ซึ่งผลการประกวดหนูน้อยนพมาศ ประจำปี 2563 ได้แก่ เด็กหญิงไปรยา คีรีวรรณ นอกจากนี้ยังมีการประดับไฟเพิ่มแสงสว่างและตกแต่งอย่างสวยงาม

        ดร.สมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา กล่าวว่า การจัดงานฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์และสืบสานประเพณีลอยกระทง และเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนให้มีความตระหนักในการมีส่วนร่วมสืบสานประเพณีของไทย โดยเทศบาลนครสงขลาได้จัดเตรียมสถานที่สำหรับให้ประชาชนได้ร่วมลอยกระทง จัดให้มีการแสดงดนตรีจากนักเรียนโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครสงขลา การแสดงจากชมรมไลน์แดนซ์ และในปีนี้จัดให้มีการประกวดหนูน้อยนพมาศขึ้นเป็นปีแรก เพื่อเป็นการสร้างสีสันและมอบความสุขให้กับประชาชนที่มาร่วมสืบสานประเพณี นอกจากนี้ เทศบาลนครสงขลาได้ขอความร่วมมือจากประชาชนในการรณรงค์และให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ โดยรณรงค์ให้ใช้วัสดุพื้นบ้านหรือวัสดุจากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่ายในการทำกระทง เช่น ใบตอง หยวกกล้วย หรือขนมปัง ที่สามารถเป็นอาหารของปลาและสัตว์น้ำอื่นได้ แทนการใช้โฟมซึ่งย่อยสลายได้ยาก เป็นเหตุให้แม่น้ำลำคลองสกปรกเน่าเหม็น เกิดภาวะเป็นพิษ รวมถึงรณรงค์การจุดดอกไม้ไฟ ประทัด พลุหรือปล่อยโคมลอย ไม่ควรจุดในที่ชุมชนที่มีประชาชนและยวดยานพาหนะสัญจรไปมา ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนได้

        วันลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เป็นประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณโดยมีความเชื่อว่าเป็นพิธีรับเสด็จพระพุทธองค์กลับลงมาจากสวรรค์หลังเสด็จไปโปรดพุทธมารดา บูชารอยพระพุทธบาท บูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  บางก็เชื่อว่าบูชาพระอุปคุตเถระ หรือเป็นการบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อ แต่ปัจจุบันนิยมทำเพื่อขอขมา และระลึกถึงคุณพระแม่คงคา ที่ได้อำนวยประโยชน์ต่างๆ แก่มนุษย์ โดยประเพณีลอยกระทงมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยประมาณ 700 ปีมาแล้ว ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยมีนางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกในพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่า “พิธีจองเปรียง” ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป ประเพณีลอยกระทงได้เข้าสู่ประเทศไทยในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีประมาณ พ.ศ.1800 ดังปรากฏในหนังสือนางนพมาศ แม้เวลาจะล่วงเลยมานานแต่ประเพณีลอยกระทงก็ยังยึดมั่นอยู่กับคนไทย เพราะนอกจากเป็นการสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทยไว้แล้วยังเป็นการระลึกถึงคุณค่าของแม่น้ำ อีกทั้งเป็นการขอขมาพระแม่คงคาที่ได้ทิ้งและถ่ายสิ่งปฏิกูลลงไปในแหล่งน้ำต่างๆ พร้อมลอยทุกข์โศกโรคภัยและสิ่งไม่ดี คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์.