“บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่จังหวัดระยอง ย้ำเชื่อมั่นจัดการน้ำ อีอีซี และเร่งฟื้นเศรษฐกิจหลังผลกระทบโควิด-19
เมื่อวันที่15 พ.ค.2563 เวลา 09.45 น. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยจุดแรกรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์น้ำภาคตะวันออก โดยมีนายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวต้อนรับ พร้อมรับฟังบรรยายสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ บรรยายสรุปสถานการณ์และมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ อธิบดีกรมชลประทาน บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำประแสร์ และแนวทางแก้ไขปัญหา พร้อมแผนการบริหารจัดการน้ำรับมือภัยแล้งในระยะต่อไป เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) บรรยายสรุปแนวนโยบายการพัฒนาพื้นที่ EEC ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บรรยายสรุปความต้องการและความจำเป็นในการใช้น้ำของพื้นที่ EEC ในปัจจุบันและอนาคต นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร บรรยายสรุปผลกระทบและความเสี่ยงของภาคอุตสาหกรรมที่อาจจะเกิดจากสถานการณ์ภัยแล้ง ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ก่อนเดินทางต่อไปยังสถานีสูบน้ำชั่วคราวคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปแผนการสูบน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์
พลเอกประวิตรกล่าวในโอกาสมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อติดตาม รับทราบข้อมูล รวมถึงปัญหาและอุปสรรคข้อติดขัดต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชนทุกภาคส่วนที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแผนดำเนินการแก้ไขสถานการณ์แล้งที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกให้สำเร็จลุล่วงพร้อมเตรียมการเข้าสู่ฤดูฝน โดยเฉพาะจังหวัดระยองขณะนี้ไม้ผลพืชเศรษฐกิจทึ่สำคัญกำลังออกสู่ตลาด ภาคอุตสาหกรรมก็ต้องเร่งกำลังการผลิต รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ที่ขณะนี้ทุกภาคส่วนกำลังเตรียมความพร้อมที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังสถานการณ์โควิดเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้ฟื้นคืนโดยเร็ว ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งจัดการความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำที่ยังมีอยู่ แม้ว่าฝนตกลงมาบ้างแล้วก็ตาม
ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาภัยแล้งเกิดผลกระทบกับภาคประชาชนน้อยที่สุด นอกจากที่ทุกหน่วยงานต้องเร่งเดินหน้าดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้แล้วทั้งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และโครงการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้งโครงการเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับเก็บกักน้ำในฤดูฝนปี 2563 สำหรับพื้นที่ปลูกไม้ผลยืนต้น และพื้นที่ประกาศเขตภัยแล้งครอบคลุม 75 จังหวัด ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 8,847 โครงการ โดยในพื้นที่ ระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรีมีโครงการดังกล่าวรวม 195 โครงการ ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น 15 ล้านลูกบาศก์เมตรให้แล้วเสร็จตามแผนแล้ว ยังได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการใน 3 ส่วนหลัก โดยมอบให้กรมชลประทานวางแผนและบริหารจัดการน้ำในระบบโครงข่ายอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ให้เพียงพอถึงฤดูแล้งหน้า พร้อมทั้งสำรวจหาสาเหตุของปริมาณน้ำที่สูญเสียไปทางตอนบนด้วยที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ น้อยไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
ส่วนการนิคมอุตสาหกรรมฯ ให้วางแผนและจัดหาแหล่งน้ำสำรองของตนเอง พร้อมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ของการจัดการน้ำหลัก 3Rs ได้แก่ ลดการใช้ การใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ และที่สำคัญขอให้ดำเนินการด้าน CSR ต่อสังคมชุมชนที่เสียสละแบ่งปันน้ำอย่างต่อเนื่อง และท้ายสุดมอบให้ สทนช.ติดตามและเร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอทันการเติบโตและความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วนให้เป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี และหากมีโครงการสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการเร่งด่วน ให้พิจารณาเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ทันที.
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า รองนายกรัฐมนตรียังได้กำชับทุกหน่วยงานเตรียมการรับมือฤดูฝนที่จะถึงนี้ โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่รับน้ำเพื่อเก็บกักน้ำต้นทุนไม่เพียงแหล่งน้ำขนาดใหญ่ แต่ให้รวมถึงแหล่งน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็กและบ่อบาดาล ซึ่งพบว่าบ่อน้ำบาดาลที่มีศักยภาพในการนำน้ำมาใช้ในฤดูฝนปี 2563 ภาคตะวันออก มีจำนวนทั้งสิ้น 1,197 แห่ง ศักยภาพการผลิตน้ำบาดาล 12 ล้าน ลบ.ม./เดือน แบ่งเป็น เพื่อสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภค 1,158 แห่ง เพื่อการเกษตร 539 แห่ง
ขณะที่โครงการที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค และโครงการเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2563 ในพื้นที่ จาก EEC รวม 195 แห่ง ประกอบด้วย ขุดเจาะบ่อบาดาล จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน ซ่อมแซมระบบประปา วางท่อน้ำดิบ เชื่อมโยงแหล่งน้ำ ฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม ก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ และก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่พร้อมระบบ ดำเนินการโดย 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การประปาส่วนภูมิภาค กรมการข้าว กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แบ่งเป็น จ.ระยอง 42 แห่ง เมื่อแล้วเสร็จจะมีส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 0.55 ล้าน ลบ.ม./ปี จ.ฉะเชิงเทรา 140 แห่ง ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 2.77 ล้าน ลบ.ม./ปี และ จ.ชลบุรี 13 แห่ง ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 10.92 ล้าน ลบ.ม./ปี.