ปธ.กมธ.แรงงาน วุฒิสภา ลงใต้ติดตามสถานการณ์แรงงาน จชต.

หมวดหมู่ : ยะลา, ทั่วไป,

อ่าน : 289
ประธานกรรมาธิการแรงงาน ติดตามสถานการณ์แรงงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนใต้
ปธ.กมธ.แรงงาน วุฒิสภา ลงใต้ติดตามสถานการณ์แรงงาน จชต.

ยะลา-ประธานกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา นำคณะลงเบตง ติดตามสถานการณ์แรงงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนใต้


     เมื่อวันที่ 8 ก.ย.66 เวลา 10.30 น. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภาพร้อมด้วยคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ลงพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อประชุมและรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานทั่วไปและการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานกลุ่มต่าง ๆ ภายหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยมีนายจรัล โต๊ะหละ แรงงานจังหวัดยะลา , นายเอก ยังอภัย ณสงขลา นายอำเภอเบตง หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดยะลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเบตง 


     พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว กล่าวว่า คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ได้ลงพื้นที่มายังอำเภอเบตง เพื่อศึกษาและรับฟังในประเด็นเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ด้านแรงงานทั่วไป การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานกลุ่มต่าง ๆ ภายหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 คลี่คลายลงและแรงงานต่างด้าวรวมทั้งผู้ประกอบการ ตลอดจนสถานการณ์ผู้ประกันตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกรณีศึกษาด้านแรงงานที่สมควรถูกหยิบยกมาเพื่อพิจารณาความสำเร็จที่เกิดขึ้น แนวทางที่กำลังเป็นอยู่ รวมถึงการเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่ต้องดำเนินการให้ลุล่วง เพื่อการพัฒนาภาคแรงงานเป็นเบื้องต้น จนนำไปสู่การปฏิรูปประเทศให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในที่สุด 


     สำหรับจังหวัดยะลาเป็นจังหวัดใต้สุดของไทย โดยเฉพาะอำเภอเบตง มีศักยภาพด้านพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุน ชายแดนมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ภาคท่องเที่ยวรวมทั้งภาคการผลิตมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารารูปแบบใหม่ๆ เนื่องจากมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ยางพาราภายในประเทศของรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการร่วมกันวางแผนการขับเคลื่อนแรงงานตามยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี พ.ศ. 2561-2580 เพื่อให้คนมีงานทำ เพิ่มทักษะแรงงานและการคุ้มครองแรงงาน นำไปสู่การสร้างความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งในอนาคตจะมีการใช้เทคโนโลยีและ AI มากยิ่งขึ้น แรงงานผู้สูงอายุจะมากขึ้นและแรงงานต่างด้าวก็จะมากขึ้นเช่นกัน 


     ผลพวงจากการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานกลุ่มต่าง ๆ ภายหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 คลี่คลายลง ทำให้ปัจจุบันเมืองเบตงเติบโตในเรื่องของการท่องเที่ยวแบบก้าวกระโดด ที่สำคัญกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนที่สำคัญของจังหวัดยะลา ถือเป็นสัญญาณที่ดีทำให้เกิดการจ้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ที่สำคัญจะเป็นการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้เกิดความมั่นคงและความสงบสุขของคนในพื้นที่ตามมาอีกด้วย


     สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานจังหวัดยะลา มีผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 260,794 คน ผู้มีงานทำ 258,369 คน ผู้ว่างงาน 2,163 คน ผู้รอฤดูกาล 262 คน ผู้ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน 121,300 คน แรงงานนอกระบบ 133,433 คน สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม 1,639 แห่ง ผู้ประกันตนทั้งสิ้น 242,217 คน แรงงานต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงาน 3,369คน สถานประกอบการต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก คือ โรงแรมและบริการด้านอาหาร รองลงมา คือ การบริหารและบริการสนับสนุนและการศึกษา ตามลำดับ.






อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :