ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ติดตามคดีลักรังนกฯ-ขณะที่หลังบ้าน ขรก.รับผลประโยชน์ชิ่งลอยตัว

หมวดหมู่ : การเมือง, พัทลุง, ทั่วไป,

อ่าน : 1,049
ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ติดตามคดีลักรังนกฯ-ขณะที่หลังบ้าน ขรก.รับผลประโยชน์ชิ่งลอยตัว

พัทลุง-ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ติดตามคดีรังนกพัทลุง  เพื่อหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ขณะที่กลุ่มร่วมสั่งการที่เป็นข้าราชการที่ยังไม่ถูกจับ เริ่มไม่พอใจหลังบ้านข้าราชการที่ลอยตัว ด้านนายก อบจ. พัทลุง เตรียมนำ “เกลื่อม” ประธานกลุ่มพิทักษ์ผลประโยชน์ประชาชนพัทลุงกลับมารักษาตัวต่อที่ รพ.พัทลุง


 ความคืบหน้าคดีลักรังนกอีแอ่น จ.พัทลุง ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2564 ว่า พล.ต.ต.ไพโรจน์ กุจิรพันธ์ ผู้บังคับการกองอุทธรณ์ (อธ.) หัวหน้าชุดสอบสวน ได้นำกำลังชุดสอบสวนเดินทางไปยังจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ เพื่อไปคลี่คลายคดีสำคัญคดีหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ตามคำสั่งของ พล.ต.อ.สุชาติ  ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร.(สส.) โดย พล.ต.อ.สุชาติ ได้มอบหมายให้ชุดสอบสวนของ ภ.จว.พัทลุง รวบรวมเอกสาร หลักฐาน  และวัตถุพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหารายอื่นๆต่อไป หลังจากที่ พล.ต.ต. ไพโรจน์ ฯ ได้คลี่คลายคดีสำคัญในจังหวัดแห่งหนึ่งไปบางส่วนแล้ว กำลังชุดดังกล่าวจะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในคดีรังนกอีกครั้งหนึ่ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ  14.00 น.  วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมอิรวดี ศาลากลางจังหวัดพัทลุง พันโท เทพจิต วีณะคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 4 สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตาม ตรวจสอบข้อเท็จจริงการร้องเรียนของกลุ่มพิทักษ์ผลประโยชน์ประชาชนจังหวัดพัทลุง  กรณีการลักลอบเข้าไปขโมยรังนกอีแอ่น บริเวณเกาะสี่  เกาะห้า ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน โดยมีคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวังพัทลุง ตัวแทนบริษัทสยามเนสท์  2022  จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการสัมปทานรังนกฯ มูลค่า  400  ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี ระหว่างวันที่  9 ก.ย.2564 – 9 ก.ย.2569 ร่วมชี้แจง


หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมทางด้าน  พันโท  เทพจิตได้เปิดเผยว่า การดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิดให้เป็นเรื่องของตำรวจ เราจะมาในเรื่องของการแสวงหาข้อเท็จจริงของสำนักงานตรวจเงินฯ โดยจะมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องไหม ความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร จะมีมาตรการ ข้อเสนอแนะในการป้องกันมิให้เกิดปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร  จะมีการเกิดซ้ำอีกไหม จะป้องกันอย่างไร โดยจะใช้กลไกของอำนาจผู้ตรวจการฯเข้ามาแก้ไข 


พันโทเทพจิตกล่าวอีกว่า ในส่วนของ พรบ. รังนกฯนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการนำเสนอข้อวินิจฉัย  ปรับปรุง  เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน อาทิ สภาพภูมิประเทศ อากาศ ซึ่งจะส่งผลให้การไปมาของนกตามพื้นที่ต่างๆแตกต่างกัน  การเข้ามาของนกในพื้นที่  จ.สตูล กับจังหวัดชุมพรย่อมแตกต่างกัน เพราะมีพื้นที่อยู่ห่างกัน ผู้ตรวจการแผ่นดินมิได้มุ่งหวังจะเอาคนผิดมาลงโทษ แต่เรามุ่งหวังให้มีการพัฒนากฎระเบียบ กฎหมาย ข้อจำกัดต่างๆ  เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นและประเทศชาติ


ด้านนายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง  เปิดเผยว่า กรณีที่นายเกลื่อม พูลสง ประธานกลุ่มพิทักษ์ผลประโยชน์ประชาชนพัทลุง เกิดอาการเส้นโลหิตในสมองแตกขณะเข้าประชุมชี้แจงการเกิดคดีลักรังนกในพื้นที่ จ.พัทลุง ต่อคณะกรรมาธิกาฯที่รัฐสภา และเข้าผ่าตัดสมอง ณ รพ.วชิระ  กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564 นั้น ขณะนี้อาการของนาย   เกลื่อมมีอาการดีขึ้น ทางแพทย์ได้เจาะคอเพื่อช่วยเหลือในการหายใจ หลังจากวันที่ 14 พ.ย. 2564  นี้ ทางคณะแพทย์ พยาบาล ได้อนุญาตให้นาย  เกลื่อม มารักษาตัวต่อ ที่ รพ.พัทลุง โดยทางโรงพยาบาล จะนำรถพยาบาล และพยาบาล นำมาส่งที่จ.พัทลุง และตนจะเป็นผู้รับผิดชอบในการเดินทางดังกล่าว  เนื่องจากเห็นว่านายเกลื่อมได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นและจังหวัดพัทลุงมาอย่างต่อเนื่อง 


ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มบงการลักรังนกครั้งมโหฬารเย้ยกฎหมายและท้าทายอำนาจรัฐว่า กลุ่มบงการที่มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังและกลุ่มข้าราชการพยายามดิ้นหาทางออก ไม่ให้สาวถึงตัวเอง ด้วยการสั่งลูกน้องคอยตรวจสอบความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ และคนที่ยังไม่ถูกจับ เพราะเกรงจะเอาตัวรอดไปมอบตัวเป็นพยานกับตำรวจ นอกจากนี้กลุ่มข้าราชการที่สั่งการซึ่งยังไม่ถูกจับ เริ่มมีความไม่พอใจแล้วที่จะตกเป็นแพะให้รับผิดฝ่ายเดียว ขณะที่หลังบ้านข้าราชการที่รับผลประโยชน์ด้วยลอยตัว ซึ่งข่าวคืบหน้าจะเสนอต่อไป.