กรุงเทพฯ- ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำยื่นจดหมายเปิดผนึก นายกรัฐมนตรี ขอบคุณที่ช่วยแก้ วิกฤติโควิด-19 และขอให้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง-ตรวจเข้มสินค้าสัตว์น้ำ อาหารทะเล อาหารต่างๆ ที่นำเข้าจากประเทศ/กลุ่มประเทศ ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรัดกุมที่สุด เพื่อความปลอดภัยของพลเมืองไทย และเป็นภาพลักษณ์ที่ดี
ผู้แทนองค์กรสำคัญการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นำโดย นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย ดร. สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย นายสมชาย ฤกษ์โภคี นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย นายสมาน พิชิตบัญชรชัย นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย นายสุทธิ มะหะเลา นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทย-ประธานที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ เดินทางเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึก ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่ ศบค.ถนนพิษณุโลก กทม. เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมาเพื่อขอบคุณที่ช่วยแก้ไขสถานการณ์ฯ โควิด-19 ให้กับประเทศดีขึ้น เป็นที่ชื่นชมของนานาประเทศทั่วโลก และ ขอให้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง ตรวจเข้มการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ อาหารทะเล และอื่นๆ จากประเทศ/กลุ่มประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด และรัดกุมที่สุด เพื่อความปลอดภัยของพลเมืองไทย และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทยเปิดเผยว่า ตั้งใจมาขอบพระคุณ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ทีมแพทย์พยาบาล บุลคลากรทางการแพทย์ คณะรัฐบาล หน่วยงานราชการ และส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ได้เสียสละทุ่มเทแรงกาย แรงใจ เวลา เพื่อแก้วิกฤติปัญหาการแพร่ระบาดของ โควิด-19 จนปัจจุบัน ไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ฟื้นตัวฯ ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยดีมากในสายตาของคนทั่วโลกอย่างที่ทราบกัน ที่สำคัญภายหลังจากมีรายงานข่าวกรณีบริษัทส่งออกปลาแซลมอนรายใหญ่ในนอร์เวย์ ออกมาเปิดเผยว่า จีนขอยุตินำเข้าปลาแซลมอน หลังจากตรวจพบเชื้อโควิด-19 บนเขียงแล่ปลาในตลาดซินฟาตี้ ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายใหม่เกี่ยวข้องกับตลาดแห่งนี้จำนวนมาก นั่นหมายถึงเชื้อโรคดังกล่าวอาจปนเปื้อนมากับอาหารฯ ได้ ยิ่งเพิ่มความวิตกกังวล และเชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวได้สร้างความตกใจให้กับคนในประเทศอย่างมาก
“ทางกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์น้ำต้องการให้ ศบค.มีมาตรการเชิงรุก พร้อมเพิ่มมาตรการเข้มงวด ในการเฝ้าระวัง และตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าสัตว์น้ำ อาหารทะเล และอื่นๆที่นำเข้ามา จากประเทศ/กลุ่มประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มแข็งที่สุดคืออยากให้มีการตรวจอย่างเข้มข้น เพื่อความปลอดภัยของพลเมืองไทย และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ที่คนไทยทุกคนแลกมาด้วยความเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ จากความสามัคคีและมีจิตสำนึกต่อสังคม ที่ร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด” นายบรรจงกล่าว.