พบแหล่ง”ปลาพลวงชมพู” หายาก-อนุรักษ์ท่องเที่ยว

หมวดหมู่ : ยะลา, ทั่วไป,

อ่าน : 300
ชาวบ้านวังไทร ปลาพลวงชมพู อุทยานแห่งชาติ ฮาลา-บาลา
พบแหล่ง”ปลาพลวงชมพู” หายาก-อนุรักษ์ท่องเที่ยว

ยะลา-ชาวบ้านวังไทร รวมกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ปลาในคลองธรรมชาติ พบมี”ปลาพลวงชมพู” หรือ “ปลากือเลาะห์” หายากและราคาแพงในท้องตลาด ที่บริเวณคลองแม่หวาด หน้าวัดคงคานิมิต หมู่ 2 บ้านวังไทร ต.แม่หวาด อ.ธารโตเตรียมพัฒนาคลองเป็นแหล่งท่องเที่ยวชมปลาหายาก


     แหล่งพบปลาหายากนี้อยู่ที่บริเวณคลองแม่หวาด หน้าวัดคงคานิมิต ม.2 บ้านวังไทร ต.แม่หวาด อ.ธารโตจ.ยะลา มีปลาหลากหลายชนิดมารวมกลุ่มแหวกว่ายน้ำ อยู่บริเวณนี้และไม่มีทีท่าว่าจะตื่นกลัวผู้คน จากการตรวจสอบพยว่าปลาบริเวณนี้มีหลายขนาดทั้งตัวใหญ่ตัวเล็ก มีทั้งปลากระสูบ ปลาตะเพียน และตระกูลปลาพลวง อย่าง ปลาพลวงทอง ปลาพลวงหิน 


     แต่ที่โดดเด่น และเป็นปลาที่ได้รับความสนใจ ของผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างมากคือ ปลาพลวงชมพู หรือที่คนในพื้นที่เรียกว่า ปลากือเลาะห์ เพราะเป็นปลาที่หายาก ยิ่งตัวที่มีขนาดใหญ่ และพบเห็นในลำคลองธรรมชาติด้วยแล้ว ยิ่งหาดูได้ยาก ปลาพลวงชมพูพบมากในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ฮาลา-บาลา แต่ไม่ได้จะหาดูได้ง่ายเหมือนในลำคลองบ้านวังไทรแห่งนี้ ซึ่งเป็นแหล่งที่ชาวบ้านร่วมกัน อนุรักษ์พันธุ์ปลา แหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติ โดยเฉพาะเขตอภัยทานหน้าวัดซึ่งถือเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของหมู่บ้าน


     นายอ้วน แย้มรัตน์ คณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านวังไทร เล่าว่า ชาวบ้านวังไทร ได้รวมกลุ่มกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาในคลองธรรมชาติคลองแม่หวาด โดยห้ามจับสัตว์น้ำบริเวณคลองหน้าวัดคงคานิมิต ซึ่งมีระยะประมาณ 1 กิโลเมตร ถือเป็นพื้นที่อนุรักษ์  จึงทำให้มีปลาจำนวนมากและหลากหลายชนิดที่อาศัยอยู่ในคลองแห่งนี้มาหลบรวมอยู่บริเวณนี้ และแพร่ขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงปลาพลวงชมพู ที่เคยใกล้จะสูญพันธุ์ เนื่องจากสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้กรมประมงมีนโยบายในการรวบรวมพันธุ์จากธรรมชาติ แล้วนำมาเพาะขยายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ กระทั่งประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกโดยใช้วิธีการผสมเทียมเมื่อปี พ.ศ.2543 ซึ่งปัจจุบันกรมประมงได้พัฒนาและส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยง แต่ก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อผู้บริโภค จึงมีการจับตามแหล่งน้ำธรรมชาติ 


     ชาวบ้านบ้านวังไทรจึงรวมกลุ่มช่วยกันอนุรักษ์ ปลาพลวงชมพูไม่ให้สูญพันธุ์ ซึ่งก็จะมีการตั้งเครื่องจำหน่ายอาหารปลาอยู่ที่บริเวณหน้าวัดคงคานิมิต โดยสามารถหยอดเหรียญ 10 บาท และธนบัตรใบ 20 บาท เพื่อซื้ออาหารมาเลี้ยงปลา ซึ่งก็จะเห็นปลาสายพันธุ์ต่างๆ รวมถึงปลาพลวงชมพู ที่ว่ายน้ำมากินอาหารที่โปรยให้อย่างชัดเจน เพราะน้ำในลำคลองใสมากจนมองเห็นขนาดของตัวปลา ซึ่งขณะนี้ปลาพลวงชมพูบริเวณนี้ก็มีให้เห็นเพิ่มปริมาณมากขึ้นรื่อยๆ จากเริ่มแรกที่มีเพียงตัวสองตัว และมีขนาดลำตัวใหญ่ขึ้น บริเวณนี้จึงเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของหมู่บ้าน ที่ใครไปใครมาก็จะแวะชมปลาพลวงชมพู ที่หาดูได้ยากตามแหล่งน้ำธรรมชาติ


     สำหรับปลาพลวงชมพู เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาตะเพียน มีรูปร่างคล้ายปลาเวียนซึ่งเป็นปลาในสกุลเดียวกัน แต่ลำตัวเพรียวและเป็นทรงกระบอกมากกว่า ส่วนหัวค่อนข้างมน ริมฝีปากหนา ปากกว้างเล็กน้อย ใต้คางมีติ่งเนื้อสั้น ๆ มีหนวด 2 คู่เห็นชัดเจน ตาอยู่ค่อนไปทางด้านบนหัว เกล็ดมีขนาดใหญ่ ครีบหลังมีก้านแข็ง 1 อัน ครีบหางเว้าลึก ครีบก้นสั้น ลำตัวด้านบนมีสีคล้ำอมน้ำตาล ด้านข้างลำตัวสีเงินเหลือบชมพูหรือทอง ครีบสีคล้ำ ด้านท้องสีขาวมีขนาดความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร ใหญ่สุดที่พบ 35 เซนติเมตร 


     ในประเทศไทยพบเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่แม่น้ำตาปีไปจนถึงมาเลเซีย โดยอาศัยอยู่ในลำธารหรือแม่น้ำที่มีฝั่งเป็นป่าร่มครึ้มรวมถึงบริเวณน้ำตก พบมากโดยเฉพาะในน้ำตกฮาลา-บาลา ภายในอุทยานแห่งชาติฮาลา-บาลา เป็นปลาที่มีรสชาติดี เป็นที่ขึ้นชื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดยะลา มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 2,000-3,000 บาท และในฮ่องกงอาจมีราคาสูงถึง 5,000 บาท นับเป็นปลาที่มีราคาแพงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 


     อีกทั้งยังจัดว่าเป็นปลาตระกูลปลาพลวงหรือปลาเวียนเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่สามารถรับประทานทั้งเกล็ดได้  มีชื่อเรียกเป็นภาษามลายูปัตตานีว่า "กือเลาะฮ" หรือ "กือเลาะฮ แมเลาะฮ ใน พ.ศ. 2524 ปลาพลวงชมพูอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากมีการสร้างเขื่อนบางลาง ทำให้สูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ 


     ต่อมามีการรวบรวมพันธุ์ปลาจากคลองฮาลา-บาลา เพื่อเพาะขยายพันธุ์ แต่ก็ยังเพาะได้น้อยมาก จนกระทั่งพ.ศ. 2542 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปยังเขื่อนบางลางและได้ทรงปล่อยพันธุ์ปลาลงเขื่อน ทรงมีพระราชดำริให้หาปลาพลวงชมพูมาเลี้ยงไว้ในฟาร์มพระราชดำริ จนกระทั่งสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ปริมาณมากแล้วในปัจจุบันโดยสถานีประมงจังหวัดยะลา และถือเป็นปลาประจำจังหวัดยะลา 


     ส่วนภาพโดยรวม ปลาพลวงชมพู ยังเป็นปลาที่ยังเพาะขยายพันธุ์ได้น้อยและลำบากอยู่ เนื่องจากเป็นปลาที่วางไข่น้อย ครั้งละเพียง 500–1,000 ฟองเท่านั้น แตกต่างจากปลาชนิดอื่นในวงศ์เดียวกันที่เมื่อวางไข่แล้วจะให้ปริมาณไข่เป็นแสนฟอง อีกทั้งยังมีการตกไข่หรือไข่สุกไม่พร้อมกันอีกต่างหาก ปลาพลวงชมพูนอกจากจะนำมาเป็นอาหารแล้ว ยังเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้อีกด้วย.






อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :