พัฒนา “หัตถกรรมจักรสานเตยทะเล” นำอัตลักษณ์ท้องถิ่นเพิ่มมูลค่า

หมวดหมู่ : นราธิวาส, ทั่วไป,

อ่าน : 286
กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย ศิลปะลังกาสุกะ ต้นเตยปาหนัน เตยทะเล
พัฒนา “หัตถกรรมจักรสานเตยทะเล” นำอัตลักษณ์ท้องถิ่นเพิ่มมูลค่า

               นราธิวาส - กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย พัฒนาหัตถกรรมจักรสานเตยทะเล หนึ่งเดียวที่นราธิวาส นำลวดลายศิลปะลังกาสุกะเป็นอัตลักษณ์ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ 

    กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย ม.2 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส เป็น 1 ในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมี นายโสภณ อีแมลอดิง อายุ 78 ปีเป็นประธาน มีแนวคิดนำสมาชิกกว่า 20 คน พัฒนาผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมจักรสาน ด้วยการนำต้นเตยปาหนัน หรือต้นลำเจียก ที่ชาวบ้านทั่วไปจะรู้จักกันในนาม เตยทะเล เป็นพืชตระกูลปาล์มเกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยเฉพาะริมทะเลมีพุ่มเป็นกอขนาดกลาง สีเขียวมีหนามที่ริมใบ ลักษณะคล้ายกับใบเตยหอมที่นำมาทำขนม

    นายโสภณ เล็งเห็นว่าในพื้นที่มีต้นเตยปาหนัน หรือเตยทะเล มีขึ้นตามชายหาดหรือริมทะเลเป็นจำนวนมาก น่าที่จะนำมาแปรรูปเกี่ยวกับงานหัตถกรรมจักรสาน หลังจากที่พบเห็นว่าต้นเตยปาหนัน หรือ เตยทะเล กอหรือพุ่มที่ใบเหี่ยวเมื่อแห้งจะเป็นสีเทา มีลักษณะสีสันที่สวยงามหากนำมาจักรสานผสมผสานกับใบกระจูดหรือใบลาน ที่กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย ดำเนินกิจการอยู่แล้วน่าจะเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้ดี

    ทางกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย จึงมีการทดลองนำใบของต้นเตยปาหนัน หรือ เตยทะเล มาแปรรูปจนประสบความสำเร็จถือว่าเป็นกลุ่มพัฒนาอาชีพ 1 เดียวที่นราธิวาส นำต้นเตยปาหนัน หรือ เตยทะเล มาแปรรูปจนสามารถจักรสานชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์ ร่วมกับต้นกระจูดและใบลานได้อย่างลงตัว

    ส่วนกรรมวิธีการแปรรูปต้นเตยปาหนัน หรือ เตยทะเล จนสามารถนำมาจักรสานผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆได้นั้น มีกรรมวิธีหลายขั้นตอน เริ่มจากเลือกใบเตยปาหนัน หรือ เตยทะเลที่มีสีเขียวเข้ม แล้วเอามีดปาดส่วนที่เป็นส้นใบและหนามริมใบทั้ง 2 ข้างออก จากนั้นใช้มีดที่ทำขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษที่มีคมมีด 3 อัน ที่มีขนาดแต่ละช่องของคมมีดเท่าๆกัน กรีดนำไปที่ใบของเตยปาหนัน หรือ เตยทะเล ซึ่ง 1 ใบ จะได้ใบเตยปาหนัน หรือ เตยทะเล ที่มีขนาดเท่าๆกันเพียง4 ชิ้นเท่านั้น เมื่อได้ใบเตยปาหนัน หรือ เตยทะเลที่ต้องการ ต้องนำมาต้มในน้ำเดือดประมาณ 10 นาที จากนั้นนำมาตากแดดให้แห้ง แล้วนำมารีดให้แต่ละเส้นเรียบ ก่อนที่จะนำไปจักรสานเป็นชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆตามต้องการ

    กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย จะนิยมนำใบต้นเตยปาหนัน หรือ เตยทะเล ไปจักรสานผสมผสานร่วมกับใบกระจูดและใบลาน เนื่องจากจะให้สีสันที่สวยงาม และเมื่อจักสานเป็นลวดลายต่างๆ ชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะมีสีสีนที่สวยงามและโดดเด่น กว่าที่ชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์ที่สานเฉพาะกระจูด หรือ ใบลาน

    ด้านการผลิตชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆภายในกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย ก็ไม่แตกต่างกับการตัดเย็นเสื้อผ้าทั่วไป คือ ชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์จะต้องมีการออกแบบว่าจะเอาแบบหรือรูปทรงใด ก็เขียนแบบลงในกระดาษแล้วตัดมาทาบกับชิ้นงานที่จักรสานแล้วเสร็จ จากนั้นก็นำไปเย็บกับจักรอุตสาหกรรม ถ้าใส่ลวดลายต่างๆก็นำลายลวดลายนั้นๆไปพร้อมในขั้นนี้นี้เลย ซึ่งที่กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย จะนำลวดลายลังกาสุกะ หรือ เราจะพบเห็นกันทั่วไปที่เขานิยมปักลงในหมวกกะปิเยาะห์ ที่ผู้ชายนับถืออิสลามนิยมสวมใส่กันทั่วไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทางกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย ต้องการแสดงออกถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรมของชายแดนภาคใต้ ในการสืบทอดให้ลูกหลานรุ่นหลังได้พบเห็นและกล่าวขาน

    ผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่ายผลิตมีหลายรูปแบบ ทั้ง กระเป๋าใส่เสื้อผ้า กระเป๋านักเรียน กระเป๋าถือกล่องใส่กระดาษทิชชู พวงกุญแจ กระเป๋าสตางค์ ของชำร่วย และรูปแบบต่างๆที่ให้ลูกค้าสั่งทำ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายจะมีด้วยกัน 3 ส่วน คือ 1. ส่งไปยังร้านภูฟ้า ซึ่งเป็น 1 ในโครงการพระราชดำริ ที่ช่วยเหลือส่งเสริมอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดาร 2. ส่งให้ตัวแทนจำหน่ายในประเทศมาเลเซีย และ 3. ลูกค้าขาจรที่มาซื้อและสั่งทำที่ทำการกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย ซึ่งมีจะมีราคาตั้งแต่ชิ้นละ 50 บาท ถึง 600 บาท ส่วนราคาที่ลูกค้าสั่งทำเป็นพิเศษก็จะมีจำหน่ายชิ้นละ 1,200 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและรูปแบบ

    นายโสภณ ประธานกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย กล่าวอีกว่า ตนเองทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ส่วนใหญ่สินค้าส่งร้านภูฟ้า ซึ่งเป็นโครงการสมเด็จพระเทพฯ มีตั้งแต่ราคา 50 บาท แพงที่สุด 500 ถึง 600 บาท มีการปักลวดลายลังกาสุกะ กำลังส่งเสริมในแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีเอกลักษณ์ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สนใจติดต่อสั่งซื้อได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์  080 5169098 หรือทางเฟสบุ๊ค กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย จ.นราธิวาส.


















อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :