พัทลุง ปลื้ม! ได้สนามบิน กรมท่าอากาศยานเลือก “ควนมะพร้าว”เหมาะสม

หมวดหมู่ : พัทลุง, ทั่วไป, ภาคใต้,

อ่าน : 1,561
กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ควนมะพร้าว ท่าอากาศยานพัทลุง
พัทลุง ปลื้ม! ได้สนามบิน กรมท่าอากาศยานเลือก “ควนมะพร้าว”เหมาะสม

        จากการที่กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ได้ว่าจ้างให้ บริษัท ดีไว พลัส จำกัด และ บริษัท ออมนิ โซลูชั่นส์จำกัด ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง ในระหว่างวันที่ 17 กันยายน 2563 และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 13 มิถุนายน 2564 รวมเวลา 270 วัน โดยใช้งบประมาณ 6 ล้านบาท นั้น

        ความคืบหน้าโครงการดังกล่าวผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อตอนสายวันที่ 8 มีนาคม 2564 ที่ห้องประชุม โรงแรมศิวา รอยัล อ.เมืองพัทลุง นางนัยนา วงศ์พนารักษ์ ผู้จัดการโครงการ นายสยาม บุระดา ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม และคณะ ได้ร่วมกันจัดประชุมย่อยในระดับพื้นที่ ครั้งที่ 2 ทั้งนี้จากการประชุมครั้งที่ผ่านมามีการเสนอพื้นที่ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง จำนวน 5 ที่ ประกอบด้วย ทางเลือกที่ 1 บริเวณตำบลปันแต-แหลมโตนด อ.ควนขนุน ทางเลือกที่ 2 บริเวณตำบลโตนดด้วน-มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน ทางเลือกที่ 3 บริเวณตำบลควนมะพร้าว-ลำปำ อ.เมืองพัทลุง ทางเลือกที่ 4 บริเวณตำบลควนขนุน-หานโพธิ์ อ.เขาชัยสน และทางเลือกที่ 5 บริเวณตำบลหานโพธิ์ อ.เขาชัยสน ซึ่งหลังจากที่คณะที่ปรึกษาออกสำรวจข้อความความคิดเห็นจากประชาชนพบว่าทางเลือกที่ 3 บริเวณตำบลควนมะพร้าว-ลำปำ ซึ่งเป็นบริเวณศูนย์วิจัยข้าว อ.เมืองพัทลุง ได้คะแนนมากที่สุด 91.17 คะแนน

        สำหรับสาเหตุที่ชาวบ้านนั้นเห็นด้วยกับทางเลือกที่ 3 ที่มีขนาดพื้นที่ 1 กิโลเมตร x 5 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ห่างจากท่าอากาศยานตรัง ประมาณ 75 กิโลเมตร อยู่ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ ประมาณ 120 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ประมาณ 140 กิโลเมตรนั้น เนื่องจากเป็นที่ราบติดถนน มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน มีความคุ้มค่าต่อชีวิตในหลายบริบท และมีแนวทางในการแก้ปัญหาในหลายๆด้าน อาทิ การคมนาคม  สิ่งแวดล้อมไม่โดนทำลาย อยากเห็นความเจริญในพื้นที่ จ.พัทลุง ในส่วนของข้อเสนอของโครงการนั้นอยากให้สำรวจความคิดของคนในแต่ละพื้นที่ และสำรวจข้อดี ข้อเสีย ในเชิงลักษณะความคุ้มทุนของแต่ละพื้นที่ มีการขยายโครงข่ายให้ดี การเข้าถึงสะดวก มีพื้นที่ว่างบริเวณใกล้เคียงที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ และมีการแนะนำให้ที่ปรึกษาจัดทำ Google Form เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้แสดงความคิดเห็น

        ส่วนข้อห่วงกังวลต่อโครงการดังกล่าวนั้นมีความห่วงกังวลในเรื่องของการเวนคืนพื้นที่ในทางเลือกที่ 3 ที่มีค่าชดเชยอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสิ้น 899,950,000 บาท ในขณะที่วัดคลองขุดที่อยู่ในพื้นที่การก่อสร้างท่าอากาศยานตามทางเลือกที่ 3 นั้น มีความห่วงกังวลเรื่องผลกระทบทางด้านเสียง และให้คำนึงถึงผลกระทบเชิงความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของประชาชน อย่างไรก็ตามหลังจากนี้คณะที่ปรึกษาจะนำข้อมูลที่ได้ทำการศึกษาข้อมูลไปสู่การออกแบบรายละเอียดต่อไป อาทิ ขนาดรันเวย์ ตัวอาคารที่พักผู้โดยสาร และจะนำการออกแบบมาเสนอในที่ประชุมในครั้งต่อไปในประมาณเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ สำหรับผู้ที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้นั้นได้เสนอแนวคิดการก่อสร้างท่าอากาศยานกันในหลายประเด็น.