ภูเก็ตซ้อมแผนจัดการภาวะวิกฤตจากอุบัติเหตุ และการกู้ภัยทางทะเล
หมวดหมู่ : ภูเก็ต, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 18 มี.ค. 2568, 21:43 น. อ่าน : 188
ภูเก็ต-จังหวัดภูเก็ตซ้อมแผนกู้ภัยทางทะเล จำลองเหตุเรือสำราญระเบิดกลางทะเล สร้างความมั่นใจให้การท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 พลเรือตรี ภุชงค์ รอดนิกร รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 เป็นประธานเปิดการฝึกซ้อมแผนบริหารจัดการภาวะวิกฤตจากอุบัติเหตุและการกู้ภัยทางทะเล ณ โรงแรมบูกิตตา โฮเทล จังหวัดภูเก็ต โดยมีหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม
การฝึกซ้อมครั้งนี้จัดขึ้นในรูปแบบ Table Top Exercise (TTX) หรือการฝึกแก้ไขปัญหาบนโต๊ะ โดยใช้ "แผนเผชิญเหตุช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล จังหวัดภูเก็ต" เป็นแนวทางหลัก เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง เรียนรู้ขั้นตอนการประสานงาน และตรวจสอบความพร้อมของยุทโธปกรณ์ที่จำเป็น
พลเรือตรี ภุชงค์ รอดนิกร กล่าวว่า การฝึกซ้อมในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเตรียมพร้อมรับมืออุบัติเหตุทางทะเล ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของจังหวัดภูเก็ตในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดภูเก็ต
นาวาเอก กฤษณ์ เคลือบมาศ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จังหวัดภูเก็ต กล่าวรายงานว่า การฝึกซ้อมได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 62 หน่วย รวมกว่า 150 คน โดยเน้นการบูรณาการแผนปฏิบัติการของ ศรชล. ตาม พ.ร.บ.ศรชล. พ.ศ. 2562 และ แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัด ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
จำลองเหตุการณ์จริง: เรือสำราญ Golden Whisper ระเบิดกลางทะเล หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของการฝึกซ้อมครั้งนี้คือ การจำลองเหตุการณ์สมมติ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น. โดยจำลองให้เรือสำราญขนาดใหญ่ Golden Whisper ประสบอุบัติเหตุ ถังแก๊สรั่วและเกิดประกายไฟ ส่งผลให้เกิดการระเบิดและไฟไหม้รุนแรงกลางทะเล ขณะเดินทางจากประเทศสิงคโปร์มายังท่าเรือน้ำลึกจังหวัดภูเก็ต เรือลำดังกล่าวมี ลูกเรือ 281 คน และนักท่องเที่ยว 361 คนรวมทั้งหมด 649 คน หลังเกิดเหตุ ลูกเรือแจ้งให้นักท่องเที่ยวสวมชูชีพ พร้อมจัดทีมดับเพลิงเพื่อควบคุมสถานการณ์และส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือผ่านวิทยุ VHF ช่อง 16 ไปยังศูนย์ควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเลจังหวัดภูเก็ต
ทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 (ศรชล.ภาค 3) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมกำลังค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขณะที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต สั่งการจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์ ประสานการช่วยเหลือ และบริหารจัดการวิกฤตอย่างเร่งด่วน
การฝึกซ้อมในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนากลไกการบริหารจัดการภัยพิบัติทางทะเล แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณถึงความพร้อมของจังหวัดภูเก็ตในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัด.