มท.2 รุกสร้างตำบลปลอดภัย

หมวดหมู่ : การเมือง, เศรษฐกิจ, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,

อ่าน : 1,741
มท.2 รุกสร้างตำบลปลอดภัย

นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เป็นประธานประชุมเพื่อพิจารณาความร่วมมือในการขับเคลื่อนตำบลขับขี่ปลอดภัย ห้องประชุมอัปสรา 1 โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง กรุงเทพฯ จัดโดยสำนักงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด ศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤติบำบัด รพ.ขอนแก่น โดยมี นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธาน สอจร. และ ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและโรงพยาบาลขอนแก่น และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมในครั้งนี้

 นายนิพนธ์ กล่าวว่า การประชุมภาคีเครือข่ายที่มีความเข้มข้นในการช่วยกันดูแลความปลอดภัยบนท้องถนน ที่ต้องร่วมมือกันบูรณาการอย่างจริงจัง ระหว่างท้องถิ่นกับท้องที่ต้องช่วยกันอุดช่องว่างในการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อลดการเสียชีวิตบนท้องถนนในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยกว่า 20,000 ราย ทำอย่างไรถึงจะลดจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิต และตัวเลขผู้บาดเจ็บบนท้องถนนลงได้  โดยเน้นไปยังภาคีเครือข่าย  เร่งบทบาทกลไกของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ. 2554 ทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น ที่ผ่านมาเราได้เน้นหนักไปในส่วนของจังหวัด ทั้งบังคับใช้กฎหมายซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นอนุกรรมการในการบังคับใช้กฎหมายของจังหวัด

  “วันนี้เห็นได้ว่าในส่วนของตำบล ศปถ.อปท. และ ศปถ.อำเภอ จำเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเพื่อลดการสูญเสียชีวิตบนท้องถนน ที่ผ่านมาหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลายมากขึ้นมีการจัดประชุมในระดับภาค โดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะเป็นประธานศูนย์ความปลอดภัยจังหวัด มาร่วมประชุมเพื่อกำหนดกลไกการดำเนินการ นำไปสู่เป้าหมายเพื่อลดอัตราการสูญเสียชีวิตให้เป็นไปตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก(WHO) ลดจำนวนผู้เสียชีวิตปัจจุบัน 30 คนต่อ 1 แสนประชากร ตั้งเป้าให้เหลือ 16 คนต่อ 1 แสนประชากรโดยใช้ระยะเวลาภายใน 5 ปี”

รมช.มหาดไทย กล่าวอีกว่า การลดความสูญเสียอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลงกว่า 2,000 ราย ซึ่งถ้าลดลงทุกปีก็จะบรรลุเป้าที่เราได้ตั้งไว้ ซึ่งจะพุ่งเป้าไปยัง 9 จังหวัดที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดก่อน ได้แก่ เชียงราย กาฬสินธุ์ สุราษฎร์ธานี ยโสธร กำแพงเพชร สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ระยอง จันทบุรี พร้อมทั้งกำชับทุกส่วนต้องมีการขับเคลื่อน ศปถ.อปท. ทั้งการประชุมติดตามผลการดำเนิน และประเมินผลเป็นประจำทุกเดือนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รายงานผลการดำเนินการทุกๆ 3 เดือน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับท้องถิ่น ประสานความร่วมมือกับประชาชน และหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติหตุในพื้นที่อย่างจริงจัง เพื่อลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน