ม.ทักษิณ เสริมภาคีหุ้นส่วนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน

หมวดหมู่ : พัทลุง, ทั่วไป, การศึกษา,

อ่าน : 742
ม.ทักษิณ เสริมภาคีหุ้นส่วนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน

               พัทลุง - มหาวิทยาลัยทักษิณ หารือ สำนักงานผู้ประสานงานสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย เพื่อร่วมสร้างหุ้นส่วนเครือข่ายการทำงานกับโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง ปีที่ 3

    เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566  ผศ.ดร.ธัญญา พันธ์ฤทธิ์ดำ รองอธิการบดีวิทยาเขตพัทลุง และคณะทำงาน มหาวิทยาลัยทักษิณ เข้าร่วมหารือกับ คุณมาริสา ปัณยาชีวะ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านประสานความร่วมเพื่อการพัฒนา สำนักงานผู้ประสานงานสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย เพื่อร่วมสร้างหุ้นส่วนเครือข่ายการทำงานกับโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง ปีที่ 3 โดย มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยเฉพาะการขับเคลื่อน เป้าหมายที่ 1 : การขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 4 : สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 8 : ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน และประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างหุ้นส่วนการทำงานกับ UN กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชน ภูมิภาค และเครือข่ายระดับนานาชาติ

    สำหรับโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง ปีที่ 3 โดย มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นโครงการที่ลงพื้นที่ปฏิบัติการร่วมกับภาคีทั้งท้องที่ ท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้คนจนในพื้นที่ดำเนินการนั้นสามารถพึ่งพาตนเอง วิเคราะห์ต้นทุนและศักยภาพด้านอาชีพ โดยมีเป้าหมายให้คนจนกลุ่มเป้าหมายนั้นหลุดพ้นจากความยากจน มีหลักการคือการสร้างระบบและโครงสร้างการแก้ไขปัญหาคนจนด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยมีการวางระบบข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อประเมินปัญหาและติดตามคนจนอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งมีการสร้างระบบช่วยเหลือทั้งในแบบสงเคราะห์ที่เชื่อมโยงกับระบบช่วยเหลือของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม และระบบการสร้างการเรียนรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพให้เกิดรายได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน.