ม.นราธิวาส คิดโครงการแบ่งสัตว์น้ำให้ชาวบ้านแปรรูปขายใช้หนี้ได้เร็ว
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, นราธิวาส,
โฟสเมื่อ : 9 มี.ค. 2567, 09:53 น. อ่าน : 402นราธิวาส-มหาวิทยาลัยนราธิวาสฝ่าคลื่นข้ามเกาะสร้างอาชีพแปรรูปเพิ่มมูลค่าอาหารทะเลให้ชาวบ้าน ที่ขึ้นชื่อว่ามีฐานะยากจนที่สุดของนราธิวาส ทำโครงการร่วมกับเจ้าหนี้ แบ่งสัตว์น้ำมาแปรรูปขายใช้หนี้ และเลี้ยงครอบครัว ปรากฏว่าใช้หนี้ได้เร็ว และชาวบ้านที่เป็นลูกหนี้ไม่ขัดสนใจ
ผศ.ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้มอบหมายให้ ผศ.สมเกียรติ สุทธิยาพิวัฒน์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส ร่วมกับ ผศ.ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรม ทำการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะปูลาโต๊ะบีซุ ม.8 ต.ศาลาใหม่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ จำนวน 784 คน รวม 127 หลังคาเรือน อาชีพหลักคือการทำประมงชายฝั่ง และเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านมีฐานะยากจนที่สุดของ จ.นราธิวาส ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านที่อยู่ในวัยทำงาน จะเดินทางไปขายแรงงานร้านต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย
หมู่บ้านแห่งนี้จะมีสภาพเป็นเกาะด้านหนึ่งจะเป็นทะเลอีกด้ายหนึ่งจะเป็นแม่น้ำตากใบ ซึ่งการเดินทางไปมาหาสู่จะต้องใช้เรือเป็นพาหนะข้ามฟากระยะทางประมาณ 500 เมตร และหากเดินเท้าข้ามสะพานต้องอาศัยทางข้ามสะพานของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งนราธิวาส โดยใช้เงินทุนจากกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
ก่อนหน้านี้เดิมทีจะมีโครงการยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ในการเพิ่มมูลค่าของอาหารทะเลที่ชาวบ้านออกหาสัตว์ทะเลได้แต่วัน ผศ.สมเกียรติ สุทธิยาพิวัฒน์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้นั่งเรือขึ้นเกาะไปสอบถามความเป็นอยู่และได้ทำประชาพิจารณ์ จนทราบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ออกไปจับสัตว์ทะเล เช่น หมึก ปลา ปูและกุ้ง เมื่อได้มาต้องนำไปจำหน่ายให้กับนายทุนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของชาวบ้าน ในการบวกลบหักหนี้
เมื่อเจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลแล้ว จึงได้ไปพูดคุยกับนายทุนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของชาวบ้าน โดยขอแบ่งสัตว์ทะเลส่วนหนึ่งให้ชาวบ้านได้นำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และนำรายได้ส่วนต่างจากการแปรรูปสัตว์ทะเลไปบวกลบหักหนี้นายทุนเองให้ชาวบ้านสามารถชำระหนี้ที่ติดค้างได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และรายได้อีกส่วนหนึ่งชาวบ้านสามารถนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแบบไม่ขัดสน ซึ่งทั้งชาวบ้านและนายทุนต่างตกลงปลงใจในข้อตกลง จึงเป็นที่มาที่ไปของโครงการยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ในการเพิ่มมูลค่าของสัตว์น้ำที่เป็นอาหารทะเล
โครงการดังกล่าวล่วงเลยมาเป็นระยะเวลานาน 8 เดือน มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการมีสมาชิกในปัจจุบัน จำนวน30 คน มี น.ส.รูฮานี ยูโซ๊ะ และ น.ส.ซูไบด๊ะ บือราเฮง เป็นหัวหน้าและร่วมบริหารกลุ่ม โดยสินค้าอาหารทะเลที่นำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นไปตามฤดูกาล และได้มีการสาธิตขั้นตอนการแปรรูปปลากระบอก และหมึกตากแห้งตามธรรมชาติโดยที่ไม่ใช้สารเคมี ที่ปัจจุบันเริ่มมีผู้บริโภคมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับขั้นตอนการแปรรูปปลากระบอกตากแห้งหรือแดดเดียว หากมีปริมาณไม่เพียงพอทางกลุ่มจะซื้อปลากระบอกหรือ ภาษายาวีท้องถิ่น เรียกว่าอีแกบลาเนาะ เพิ่มจากชาวบ้านตกกิโลกรัมละ 60 บาท มาทำการขอดเกล็ดปลาให้เกลี้ยง ผ่าท้องควักไส้ ล้างด้วยความสะอาด แล้วมามาแช่น้ำทะเลส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งจะมาแช่เกลือ ซึ่งกรรมวิธีทั้ง 2 แบบ จะได้รสชาติต่างกัน ตามใจชอบของผู้บริโภค ที่เลือกชื้อปลากระบอกแดดเดียวหรือตากแห้ง ผู้ที่ชื่นชอบการแช่ด้วยน้ำทะเลบอกว่าได้รสชาติแบบธรรมชาติมากที่สุด ส่วนผู้บริโภคที่ชื่นชอบกรรมวิธีการแช่เกลือ จะชื่นชอบรสชาติที่ออกเค็มไปรับประทานร่วมกับแกงจะพอดี ซึ่งกรรมวิธีการตากแห้งจะใช้เวลานาน 2 ถึง 3 ชั่วโมง ในมุ้งไนลอนสีขาว ก่อนที่จะบรรจุในถุงพลาสติดใสซีลสุญญากาศ น้ำหนัก 1 กิโลกรัมจำหน่ายในราคา 350 บาท
ส่วนของหมึกตากแห้งมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ หมึกหอม ภาษายาวีพื้นถิ่น เรียกกว่า ซูตงงาแบ และหมึกกล้วยภาษายาวีพื้นถิ่นเรียกว่า ซูคงเตาะเง่าะ หากมีปริมาณหมึกที่ไม่เพียงพอจะรับซื้อจากชาวบ้านกิโลกรัมละ 250 บาทเมื่อนำมาแปรรูปจะจำหน่ายขนาดเล็ก 5 ตัว ราคา 1,000 บาท ส่วนตัวใหญ่ 2 ตัว ราคา 1,800 บาท
ด้านกรรมวิธีในการแปรรูปหมึกนั้น นำหมึกไปผ่าท้องทำความสะอาดแล้วนำมาแช่เกลือ ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมงจากนั้นนำไปตากเรียงไว้ในมุ้งไนลอนสีขาว ตากแดดประมาณ 2 วัน แล้วนำบรรจุในถุงพลาสติดใสซีลสุญญากาศ น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ซึ่งมีขนาดเล็กบรรจุ 5 ตัว จำหน่ายในราคาถุงละ 1,000 บาท ส่วนหมึกตัวใหญ่ มีขนาดบรรจุถุงละ 2 ตัว จำหน่ายในราคา 1,800 บาท โดยมีการติดสติ๊กเกอร์ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชาวบ้าน เป็นรูปวงกลมด้านในมีรูปปลาและกุ้งพร้อมพิมพ์คำว่าเกาะหัวใจเป็นสีแดง พร้อมด้วยหมายเลขโทรศัพท์ 080 7696090 เป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพสินค้า
น.ส.รูฮานี ยูโซ๊ะ หัวหน้าและผู้บริหารกลุ่มชาวบ้าน กล่าวว่า สมาชิกชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวน 30 คน ขณะนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเดือนคนละ 1,500 บาท โดยจะจำหน่ายออกบูธตามงานต่างๆในตัวเมืองตากใบและนราธิวาส และจะจำหน่ายทางเพจ คือ เพจหมู่บ้านโต๊ะบีซู.