ม.วลัยลักษณ์ จับมือ ทม.ปากพูน ลดขยะแบบยั่งยืนเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

หมวดหมู่ : นครศรีธรรมราช, ทั่วไป,

อ่าน : 231
ม.วลัยลักษณ์ จับมือ ทม.ปากพูน ลดขยะแบบยั่งยืนเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

นครศรีธรรมราช-มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับเทศบาลเมืองปากพูน พัฒนาระบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ลดปริมาณขยะลดภาระค่าใช้จ่ายของเทศบาล และเพิ่มมูลค่าขยะมูลฝอย สร้างความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

         เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 เวลา 13.30 น. นายชวกิจจ์ สุวรรณคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานเปิดงานการจัดแสดงนิทรรศการ "นวัตกรรมเทคโนโลยีสีเขียว'' และเศรษฐกิจสีเขียวของเทศบาลเมืองปากพูนเพื่อนำเสนอแนวทางและเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมี รศ.ดร. มัลลิกา เจริญสุธาสินี คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะอาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารเทศบาลเมืองปากพูน เจ้าหน้าที่และภาคีเครือข่าย ตลอดจนประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของให้ความสนใจเข้าร่วมชมงานที่ลานกิจกรรม หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลนครศรีธรรมราช 

            สำหรับการจัดนิทรรศการดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และเทศบาลเมืองปากพูนซึ่งดำเนินการสำรวจ เก็บรวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับระบบการจัดการขยะของเทศบาลเมืองปากพูน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการขยะด้วยเทคโนโลยีสีเขียว และเศรษฐกิจสีเขียวอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งปัญหาขยะมูลฝอยถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมากในปัจจุบันโดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองปากพูน ซึ่งต้องเผชิญกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

          จากการสำรวจพบว่า เทศบาลเมืองปากพูนมีปริมาณขยะมากถึง 18 ตันต่อวัน หรือ 6,570 ตันต่อปี ครอบคลุมพื้นที่ 12 หมู่บ้าน ที่มีประชากรกว่า 16,000 ครัวเรือน และปัญหาขยะตกค้าง ก่อให้เกิดมลภาวะทางกลิ่น ควันจากการเผาขยะ และแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์พาหะนำโรค นอกจากนี้ การกำจัดขยะยังเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 2.7 ล้านบาท/ปี เบื้องต้น เทศบาลเมืองปากพูนได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการคัดแยกขยะภายในชุมชน โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นทาง ส่งผลให้ปริมาณขยะที่ต้องกำจัดลดลงเหลือเพียง 1.8 ตันต่อวัน หรือ 657 ตันต่อปีลดลง 10 เท่า นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะลงเหลือเพียง 361,350 บาทต่อปี ทำให้เทศบาลสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 2.3 ล้านบาทต่อปี

            คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่าความสำเร็จของโครงการนี้เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงช่วยลดภาระด้านค่าใช้จ่ายของเทศบาล แต่ยังช่วยเพิ่มมูลค่าขยะมูลฝอย ผ่านการนำขยะมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การนำเศษอาหารไปใช้เลี้ยงสัตว์ การนำขยะเชื้อเพลิงไปจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงให้กับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิง การนำขยะอินทรีย์ไปผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพและก๊าซชีวภาพการนำเศษกิ่งไม้ไปทำวัสดุดินปลูก การใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเป็นวัสดุถมที่ดิน การสกัดน้ำมันจากถุงพลาสติกเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน มาตรการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด แต่ยังช่วยส่งเสริมแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อีกด้วย.