ม.อ.พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSEN) ครั้งที่ 2/2566

หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป, การศึกษา,

อ่าน : 826
ม.อ.พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSEN) ครั้งที่ 2/2566

               สงขลา - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย สำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ จัดแถลงข่าวเป็นเจ้าภาพจัด การประชุมเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSEN) ครั้งที่ 2/2566 (The Annual Meetings of Thailand Scientific Equipment Center Network (TSEN), 2nd, 2023) โดยมี ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย รศ.ดร.วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ รศ.อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ และ คุณอุทัย ไทยเจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุม 210 ชั้น 2 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566

    การประชุมเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSEN) ครั้งที่ 2/2566 (The Annual Meetings of Thailand Scientific Equipment Center Network (TSEN), 2nd, 2023) กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 15 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติ ครบรอบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อสร้างความเข้มแข็งของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ในสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐของประเทศ พร้อมเปิดโอกาสให้สมาชิกเครือข่ายฯ ได้ศึกษาความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรมใหม่ของบริษัทผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขั้นสูง

    เครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Scientific Equipment Center Network, TSEN) เป็นการรวมกลุ่มของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานภาครัฐ เริ่มจัดตั้งครั้งแรก ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 21 หน่วยงานทั่วประเทศ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับเครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ตอบโจทย์งานวิจัยทุกแขนงในหน่วยงานภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม

    ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มุ่งหวังให้การประชุมเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSEN) ครั้งที่ 2/2566 นี้ เป็นพื้นที่ให้อาจารย์ นักวิจัย บุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมทุกแขนง ได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ผ่านการจัดแสดงเครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกจากบริษัทฯ ผู้ผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั่วประเทศ

    ด้าน รศ.ดร.วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า สำหรับการจัดประชุมเครือข่ายฯ ในครั้งนี้ จะสามารถเชื่อมโยงและต่อยอดด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยเฉพาะตอบสนองการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ให้เกิดความเข้มแข็ง และสามารถยกระดับวิทยาศาสตร์ในไทยให้ก้าวไปในเวทีโลกต่อไปได้

    ขณะที่ รศ.อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงการจัดการประชุมเครือข่ายฯ ครั้งนี้ว่า สำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์ฯ ม.อ. ตั้งใจให้งานนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยการยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการด้านการวิเคราะห์ทดสอบของสมาชิกฯ และเสริมสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสมาชิกเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ตลอดจนเป็นเวทีในการนำเสนอความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของบริษัท ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขั้นสูง เป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้อาจารย์ นักวิจัย และผู้ประกอบการในภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ได้มาพบปะพูดคุยเพื่อเกิดความร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนายกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

    การจัดงานครั้งนี้มีบริษัทฯ นำเข้าเครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เช่น Bara Scientific Co., Ltd. C.E. combination Co., Ltd. Sithiphorn Associates Co.,Ltd. เข้าร่วม และมีบริษัทชั้นนำกว่าอีก 50 บริษัท ร่วมจัดแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อแสดงศักยภาพด้านเครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถช่วยตอบโจทย์งานวิจัยทุกแขนง ผ่านการสร้างความเชื่อมโยงร่วมกันทุกภาคส่วน อีกทั้งในวันที่ 14 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับฟังการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับนวัตกรรมเครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุด ตอบโจทย์โลกวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน พร้อมจุดประกายความคิดให้อาจารย์ นักวิจัย ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมทุกแขนง ได้กลั่นไอเดีย ออกมาต่อยอดสู่นวัตกรรมในอนาคต.