รมช.มท.จี้คุมเข้ม”ดื่มแล้วขับ”-พร้อมเตรียมรับไฟป่าหน้าร้อน
หมวดหมู่ : การเมือง, ทั่วไป, ภาคเหนือ,
โฟสเมื่อ : 16 เม.ย. 2565, 22:56 น. อ่าน : 1,040เชียงใหม่- รมช.มหาดไทย เน้นย้ำมาตรการ ด่านครอบครัว/หมู่บ้าน ปฏิบัติหน้าที่เข้มข้นทุกอำเภอ มุ่งลดอุบัติเหตุจากการ“ดื่มแล้วขับ” พร้อมตรวจเยี่ยมปฏิบัติการดับไฟป่าหมอกควันพื้นที่ภาคเหนือ ชื่นชมทุกภาคส่วนที่ทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ จนทำให้จุดความร้อนในปีนี้ลดลงจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2565 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 จังหวัดเชียงใหม่ ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีคณะกรรมการศูนย์ฯ ผู้แทนหัวหน้าส่วนราชการ อำเภอทุกอำเภอ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งประชุมทางไกลผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกล (Video Conference) ร่วมกับคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์การป้องกันและลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2565 ไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพฯ
นายนิพนธ์ กล่าวว่า จากสถิติการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ในช่วง5 วันที่ผ่านมา (11–15 เม.ย. 2565) พบว่ามีการเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่การเสียชีวิตยังคงทรงตัว สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุยังคงเกิดจากการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ โดยยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือรถจักรยานยนต์ จึงต้อง
ขอความร่วมมือผู้ขับขี่ หากร่างกายไม่มีความพร้อม และดื่มแอลกอฮอล์จนมีอาการมึนเมา ต้องไม่ขับรถออกสู่ท้องถนน และจะต้องสวมหมวกนิรภัย ไม่ขับรถเร็วเกินกำหนด รวมทั้งการให้สัญญาณไฟก่อนจอดและเลี้ยวทุกครั้ง เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์นี้ สัญจรปลอดภัย และเที่ยวอย่างมีความสุข
“ยังคงเหลืออีก 2 วันของช่วงการรณรงค์ จึงต้องขอความร่วมมือด่านครอบครัว ด่านชุมชน รวมทั้งด่านโรงงานช่วยกันดูแลคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และมีอาการมึนเมา ต้องไม่ขับขี่รถเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อยับยั้งการเคลื่อนตัวออกสู่พื้นที่เสียง จนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต และให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และลดอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์อีกด้วย พร้อมรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกการใช้รถใช้ถนนให้ประชาชนได้ตระหนักและระมัดระวังในการเดินทางกลับอย่างเข้มข้น” นายนิพนธ์กล่าว
นอกจากนี้ในวันนี้-18 เม.ย 2565 ประเทศ ไทยจะเกิดพายุฤดูร้อนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคกลาง จึงขอแจ้งเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ขอให้ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่และผู้ขับขี่ได้เพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรหากมีกรณีต้นไม้ล้มกีดขวางเส้นทางจราจร หรือถนนชำรุดเสียหาย ขอให้รีบแจ้งเตือนเพื่อให้ประชาชนได้หลีกเลี่ยงและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการซ่อมแชม แก้ไข เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยในการสัญจรของประชาชนต่อไป
จากนั้นนายนิพนธ์ รมช.มหาดไทย และคณะ เดินทางไปกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า กองพลทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิบัติการดับไฟป่าของชุดอากาศยาน KA – 32 พร้อมติดตามสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง โดยมี พลตรีประสิษฐิพงษ์ มูลดี รองผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หน.สนง.ปภ. เชียงใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและรายงานสถานการณ์
นายนิพนธ์และคณะได้เยี่ยมชมการสาธิตการซ้อมแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางอากาศยาน (MI-17,KA-32) โดยกองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อซักซ้อมการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.64 – 15 เม.ย.65 เกิดจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 23,923 จุด เมื่อเทียบปี 64 ( 62,323 ) ลดลง 38,400 จุด คิดเป็น 61.61 % เมื่อเทียบปี 63 ( 131,093 ) ลดลง 107,170 จุด คิดเป็น 81.75 % ซึ่งจุดความร้อนวันนี้เกิด 212 จุด พบในจังหวัดเชียงใหม่ ,แม่ฮ่องสอน,กำแพงเพชร, ลำปาง,ตาก,สุโขทัย,และจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าสงวน111 จุด ,พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 34 จุด,พื้นที่เกษตร 28 จุด
นายนิพนธ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ที่เป็นวาระแห่งชาติ ด้วยเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และต้องขอขอบคุณชื่นชมทุกภาคส่วนที่บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ จนทำให้จุดความร้อนในปีนี้ลดลงไปได้จำนวนมาก แม้ประเทศไทยจะยังได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่บ้าง แต่จะต้องทำให้พื้นที่ของเราปลอดหมอกควันหรือลดให้มากที่สุด ถือเป็นสิ่งที่ดี โดยขอให้มีการสรุปและถอดบทเรียนจุดอ่อนจุดแข็ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาและควบคุมได้ดียิ่งขึ้นในปีต่อ ๆ ไป.