“เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รมว.เกษตรและสหกรณ์ เผยส่งรายชื่อเกษตรกรกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจาก วิกฤติโควิด-19 ให้ รมว.คลังแล้ว เพื่อเร่งดำเนินการทุกขั้นตอนเยี่ยวยาจ่ายเงินช่วยเหลือโดยเร็ว และไม่ได้ล่าช้า พร้อมเปิดลงทะเบียนรายชื่อเกษตรกที่ตกหล่นภายใน 15 พ.ค.นี้
เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2563 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจากกรณีที่มีข้อทวงติงผ่านทางสื่อมวลชนว่า กระทรวงเกษตรฯ ทำงานล่าช้า รวมถึงไม่เห็นความสำคัญและใส่ใจ ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 นั้นไม่เป็นความจริง กระทรวงเกษตรฯ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน โดยตนได้สั่งการให้เร่งรัดดำเนินการในทุกขั้นตอนเพื่อให้ความช่วยเหลือถึงมือเกษตรกรอย่างเร็วที่สุด โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 63 รมว.กระทรวงการคลัง ได้รับหนังสือแจ้งข้อมูลจำนวนเกษตรกรที่พร้อมได้รับการเยียวยาในกลุ่มแรกจากกระทรวงเกษตรฯเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่ากระทรวงการคลังจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้ได้โดยเร็วเช่นกัน
นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและมีบัญชี ธ.ก.ส. จะได้รับเงินช่วยเหลืองวดแรกในกลางเดือน พ.ค. ส่วนที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนหรือมีรายชื่อตกหล่น ได้เร่งประชาสัมพันธ์ ให้มาลงทะเบียนภายใน 15 พ.ค.ซึ่งเป็นวันสุดท้าย จากนั้นกระทรวงเกษตรฯ จะตรวจสอบความถูกต้องอีกประมาณ 7 วัน ก่อนส่งให้กระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินการจ่ายเงิน ทั้งนี้คาดว่าเกษตรกรจะได้เงินงวดแรกครบหมดภายในสิ้นเดือนพ.ค.นี้ ต้องขอบอกว่า ตนห่วงใยทั้งเกษตรกรและประชาชน ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานดูแลห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งระบบจนถึงมือผู้บริโภค รวมถึงการขนส่งกระจายผลผลิตเพื่อให้เกษตรกรขายผลผลิตได้
พร้อมกันนี้นายเแลมิชัยได้เปิดกระบวนทำงานเพื่อเยียวยาเกษตรกรของกระทรวงฯว่า เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. ได้ส่งข้อมูลรายชื่อเกษตรกร ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อตรวจสอบสิทธิ์โครงการเราไม่ทิ้งกัน วันที่ 12 เม.ย. กระทรวงการคลังกำหนดให้ผู้มีอาชีพเกษตรกรเป็นกลุ่มไม่ได้รับสิทธิ์ ต่อมามีร้องเรียนว่า ไม่ได้รับสิทธิ์เพราะเป็นเกษตรกร
ต่อมาวันที่ 18 เม.ย. นายเฉลิมชัยได้เรียกประชุมพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร วันที่ 21 เม.ย. ให้ทำการตรวจสอบจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เพื่อวางกรอบช่วยเหลือกับ ธกส. ต่อมาวันที่ 22 เม.ย. นานเฉลิมชัยพร้อมด้วยปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อหาแนวทางการเยียวยาเกษตรกร
วันที่ 23 เม.ย. นายเฉลิมชัยได้ทำหนังสือเสนอโครงการเยียวยาเกษตรกรต่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และเลขาธิการ ศสก. เข้าชี้แจงรายละเอียด ต่อมาวันที่ 28 เม.ย. ครม. มีมติอนุมัติโครงการ ไม่เกิน 10 ล้านราย 150,000 ล้านบาท และวันที่ 29 เม.ย. มอบให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯเรียกประชุมตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน ทั้ง พืช ปศุสัตว์ ประมง หม่อนไหม ยาง อ้อย ยาสูบ
ต่อมาวันที่ 30 เม.ย. นายเฉลิมชัยได้ประชุมสรุปจำนวนเกษตรกร และตรวจสอบความซ้ำซ้อนของการขึ้นทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงานจาก citizen ID จากนั้นวันที่ 1 พ.ค. ได้ลงนามในหนังสือถึง รมว.กระทรวงการคลัง เพื่อแจ้งข้อมูลจำนวนเกษตรกรที่พร้อมได้รับการเยียวยาในกลุ่มแรก ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พ.ค. รมว.กระทรวงการคลัง ได้รับหนังสือเป็นที่เรียบร้อย ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากระทรวงเกษตรฯใส่ใจทำงาน มีการติดต่อประสานงานเป็นการภายในกันโดยตลอดไม่เว้นวันหยุดราชการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ได้ล่าช้าอย่างที่เข้าใจกัน.