รมว.เกษตรฯ อนุมัติ “พัฒนาลุ่มน้ำคลองกลาย” แหล่งผลิตผลไม้ส่งออก

หมวดหมู่ : การเมือง, นครศรีธรรมราช, ทั่วไป, ภาคใต้,

อ่าน : 1,195
รมว.เกษตรฯ พัฒนาลุ่มน้ำคลองกลาย
รมว.เกษตรฯ อนุมัติ “พัฒนาลุ่มน้ำคลองกลาย” แหล่งผลิตผลไม้ส่งออก

นครศรีธรรมราช - “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” ส.ส.นครศรีธรรมราช เชิญ เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ดูปัญหาด้วยตนเอง และอนุมัติโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองกลาย เพื่อช่วยแหล่งผลิตผลไม้ส่งออกรายใหญ่ของ จ.นครศรีธรรมราช 2 อำเภอ ใช้งบประมาณ 2-3 พันล้านบาท

จากปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นกับลุ่มน้ำคลองกลายในเขตอำเภอท่าศาลา และอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทุเรียนส่งออกต่างประเทศแหล่งใหญ่ของประเทศไทย รวมทั้งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรพันธ์ุไม้เศรษฐกิจหลายชนิด เช่น มังคุด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอื่นๆ อีกจำนวนมาก โดยหลายปีที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิกฤตน้ำหลากจากเทือกเขานครศรีธรรมราช สร้างผลกระทบอย่างรุนแรง และเมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง จะเกิดการขาดน้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตรอย่างหนัก ประกอบกับปัญหาน้ำทะเลหนุนที่ไหลย้อนเข้าคลองกลาย เข้ามายังพื้นที่แผ่นดินชั้นในกว่า 15 กิโลเมตร สร้างผลกระทบให้กับระบบนิเวศอย่างรุนแรง เกษตรกรทั้งสองฝั่งลุ่มน้ำไม่สามารถใช้น้ำได้ เนื่องจากน้ำในคลองกลายกลายเป็นน้ำทะเลแทบทั้งสายน้ำ และยังส่งผลกระทบกับพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 200 ตารางกิโลเมตร ตลอดแนวลุ่มน้ำ

ความคืบหน้าล่าสุดในเรื่องนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยชาวอำเภอนบพิตำ และอำเภอท่าศาลา ได้ร่วมกันทำหนังสือแจ้งปัญหาเร่งด่วนเสนอให้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งทำการแก้ไขปัญหาตามแผนพัฒนาลุ่มน้ำคลองกลายทั้งระบบซึ่งมีแผนดำเนินการอยู่แล้ว โดยนายเฉลิมชัยได้เดินทางลงพื้นที่ปัญหาพร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนชาวอำเภอนบพิตำและอำเภอท่าศาลา ด้วยตัวเองพร้อมทั้งข้าราชการระดับสูงของกรมชลประทาน เพื่อนำไปสู่โครงการสร้างประตูระบายน้ำ ซึ่งระบุว่าประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากใช้พื้นที่ของกรมชลประทานที่มีอยู่แล้วในบริเวณบ้านนากุน รอยต่อระหว่างหมู่ที่ 6 ตำบลสระแก้ว และหมู่ที่ 1 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอท่าศาลา

                   นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าการแก้ปัญหาจะมี 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยจะสร้างให้คลองกลายเป็นพื้นที่เก็บน้ำ โดยกรมชลประทานจะได้ดำเนินการโครงการแรกได้เลย คือ โครงการประตูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนไว้ให้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง และกันการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม

                สำหรับการใช้งบประมาณนั้นจะเป็นลักษณะของโครงการชุดที่รวมหลายโครงการขนาดเล็ก เพี่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ เช่น โครงการแรก คือ การสร้างประตูน้ำ เพื่อกักเก็บยกระดับปริมาณน้ำกักเก็บในคลองกลาย หลังจากนั้นจะมีการสร้างสถานีสูบน้ำเข้าสู่คลองไส้ไก่ที่มีอยู่แล้ว การกักเก็บน้ำในอ่างพวงตามจุดต่างๆ กระจายในพื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งน้ำ โดยใช้งบประมาณ 2-3 พันล้านบาท

                 ขณะที่ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช ผู้ดำเนินการผลักดันการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำคลองกลาย เปิดเผยยืนยันว่า ลักษณะโครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตหรือที่ทำกินของประชาชน ยืนยันว่าไม่ได้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ หรือการสร้างเขื่อนตามที่มีการพยายามสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในพื้นที่ หากดำเนินการโครงการแล้วเสร็จปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำจะหมดไป ประโยชน์ที่ได้รับจะเกิดขึ้นกับพื้นที่เกษตรกรรมที่สร้างรายได้จากการผลิตทุเรียนนอกฤดูให้กับประเทศไทยหลายพันล้านหรืออาจกว่าหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะอำเภอนบพิตำและอำเภอท่าศาลา ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำคลองกลายแหล่งผลิตทุเรียนส่งออกจะสามารถลดต้นทุนการขุดเจาะบาดาลหาแหล่งน้ำของเกษตรกรหลายแสนบาทต่อราย.