รองเลขาฯ คปภ. ลงพื้นที่สะทิงพระ ติวเข้มเกษตรกรเรื่องประกันภัย

หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป,

อ่าน : 423
รองเลขาธิการ คปภ. เกษตรกรอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โครงการ ”อบรมความรู้ประกันภัย”
รองเลขาฯ คปภ. ลงพื้นที่สะทิงพระ ติวเข้มเกษตรกรเรื่องประกันภัย

สงขลา-รองเลขาธิการ คปภ. ลงพื้นที่รับฟังข้อเสนอแนะจากเกษตรกรอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ในโครงการ ”อบรมความรู้ประกันภัย”สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ประจำปี 2565


  เมื่อวันที่ 14 พ.ย.65 เวลา  15.00 น. นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (รองเลขาธิการ คปภ.) และคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ลงพื้นที่รับฟังข้อเสนอแนะจากเกษตรกรในพื้นที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ในโครงการ “อบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ประจำปี 2565 โดยมี นายชัยเดช ปาละวงศ์ นายอำเภอสทิงพระ พร้อมด้วยส่วนราชการ และพี่น้องประชาชนชาวอำเภอสทิงพระ ร่วมให้การต้อนรับ ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอสทิงพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา

      

นายชูฉัตร ประมูลผล  รองเลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ได้เล็งเห็นความสำคัญและเลือกจังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งในสองจังหวัดในการลงพื้นที่โครงการอบรมความรู้ประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี2565 เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงรับทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรค ตลอดจนข้อเสนอแนะของการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในส่วนของจังหวัดสงขลาจะเน้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปีเป็นหลัก เพื่อจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ตลอดจนการพัฒนาโครงการประกันภัยข้าวนาปีให้ตอบโจทย์และตรงจุดยิ่งขึ้นต่อไป สำหรับอำเภอสทิงพระ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบต่ำ และในแต่ละตำบลก็มีโอกาสเผชิญความเสี่ยงภัยธรรมชาติในรูปแบบที่แตกต่างกันโดยมีทั้งภัยน้ำท่วมและภัยฝนทิ้งช่วง 


ดังนั้นการลงพื้นที่รับฟังข้อเสนอแนะจากเกษตรกรในพื้นที่อำเภอสทิงพระในครั้งนี้ นอกเหนือจากรับฟังสภาพปัญหาต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีกด้วย ในขณะเดียวกันสำนักงาน คปภ. จะได้นำข้อมูลตลอดจนเสียงสะท้อนจากเกษตรกรนำไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อไป รวมถึงการขยายการรับประกันภัยพืชผลเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ทั้งในรูปแบบโครงการระดับชาติ และการรับประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มเติมอีกด้วย

      

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองข้าวนาปีที่เพาะปลูกในนาข้าว และหากต้นข้าวได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ (1) ภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก (2) ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง(3) ภัยลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น (4) ลูกเห็บ (5) ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง (6) ภัยไฟไหม้ และ (7) ภัยจากช้างป่ารวมไปถึงภัยอื่นๆ ได้แก่ ภัยศัตรูพืช และโรคระบาด 

       

ส่วนด้านความคุ้มครองและเบี้ยประกันภัยของการประกันภัยข้าวนาปี ความคุ้มครองพื้นฐานภัยธรรมชาติ 7 ภัยคุ้มครอง 1,190 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด คุ้มครอง 595 บาทต่อไร่ ชาวนาที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกของ ธ.ก.ส. และเพาะปลูกในทุกโซนพื้นที่เบี้ยประกันภัย 99 บาทต่อไร่ ได้รับประกันภัยฟรี โดยรัฐบาล กับธ.ก.ส. จ่ายเบี้ยประกันภัยให้ 


แต่ถ้าเป็นชาวนาที่เกษตรกรที่ไม่ใช่ลูกค้า ธ.ก.ส. หรือลูกค้า ธ.ก.ส. ที่กู้เงินบางส่วน และประสงค์จะทำประกันภัยเพิ่มเติม เบี้ยประกันภัยก็จะมีอัตราที่แตกต่างกัน ตามความเสี่ยงโดยมี 3 โซน 3 สี ได้แก่ โซนสีเขียว 99 บาทต่อไร่โซนสีเหลือง 199 บาทต่อไร่ และโซนสีแดง 218 บาทต่อไร่ แต่รัฐบาลจะช่วยสนับสนุน โดยจ่ายเบี้ยประกันภัย 59.40 บาทต่อไร่ ส่วนที่เหลือเกษตรกรจะต้องจ่ายเอง คือโซนสีเขียว 39.60 บาทต่อไร่ โซนสีเหลือง 139.60 บาทต่อไร่ และโซนสีแดง 158.60 บาทต่อไร่ ตามลำดับ

       

นอกจากนี้หากเกษตรกรเล็งเห็นความสำคัญของการประกันภัย และอยากได้ความคุ้มครองส่วนเพิ่มจากความคุ้มครองพื้นฐานดังกล่าว ทั้งในส่วนภัยธรรมชาติ 7 ภัย ซึ่งคุ้มครอง 240 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูพืชและโรคระบาด ซึ่งคุ้มครอง 120 บาทต่อไร่ ก็สามารถจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมเองทั้งหมด ดังนี้ โซนสีเขียว เบี้ยประกันภัย 27 บาทต่อไร่ โซนสีเหลือง เบี้ยประกันภัย 60 บาทต่อไร่ และโซนสีแดง เบี้ยประกันภัย 110 บาทต่อไร่.














อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :