รอง ผวจ.นำทีมตรวจสถานที่เก็บรักษาวัตถุระเบิดของเอกชนในค่ายทหาร
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 24 ส.ค. 2566, 19:00 น. อ่าน : 443สงขลา-จังหวัดสงขลาออกตรวจสอบสถานที่เก็บรักษาวัตถุระเบิดในพื้นที่จังหวัดสงขลา พบการเก็บรักษามีความมั่นคง แข็งแรง และถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย ในพื้นที่เก็บของ มทบ.42 ค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 66 เวลา 16.30 น นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยนายชวกิจจ์สุวรรณคีรี นายอำเภอหาดใหญ่ นำเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ลงพื้นที่ตรวจสถานที่เก็บรักษาวัตถุระเบิดของบริษัท ซึ่งได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่อำเภอหาดใหญ่ จำนวน 6 บริษัท ให้เป็นไปตามมาตรการในการป้องกัน ควบคุม ตรวจสอบเกี่ยวกับการดำเนินการของผู้รับใบอนุญาต เพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันการเกิดเหตุระเบิดขึ้นอีก ที่สถานที่เก็บรักษาวัตถุระเบิด ณ มณฑลทหารบกที่ 42 ค่ายเสนาณรงค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา ได้ดำเนินมาตรการในการควบคุมทั้งในเรื่องของการมีไว้ในครอบครอง การขนย้าย และการสั่งนำเข้าอย่างเข้มงวด และการลงพื้นที่ในวันนี้เป็นการตรวจสอบสถานที่เก็บรักษาวัตถุระเบิด ณ มณฑลทหารบกที่ 42 ค่ายเสนาณรงค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ของผู้ได้รับใบอนุญาตให้มี ใช้ สั่ง นำเข้า ซึ่งวัตถุระเบิด จำนวน 6 บริษัท โดยแบ่งเป็นประเภทเหมืองบก 5 บริษัท ได้แก่บริษัทเขาบันไดนางศิลา จำกัด อำเภอหาดใหญ่, บริษัท เขาแดงคอนสตรัคชั่น จำกัด อำเภอสะเดา, บริษัทเพชรภูผาเพิ่มทรัพย์ จำกัด อำเภอสะเดา, บริษัทไศลรุ่งเรือง จำกัด อำเภอจะนะ, บริษัท ที.พี.เอ็น.
ร็อคเวลล์ จำกัด อำเภอรัตภูมิและประเภทปิโตรเลียม 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท ฮัลลิเบอร์ตัน เอ็นเนอจี เซอร์วิสเซส อิงค์
ผลการตรวจสอบพบว่าสถานที่เก็บรักษาวัตถุระเบิดของบริษัททั้ง 6 แห่ง มีความมั่นคง แข็งแรง และถูกต้องตามระเบียบกฎหมายที่กำหนด สำหรับขั้นตอนในการควบคุม ผู้ประกอบการจะต้องมีการขออนุญาตมีไว้เพื่อครอบครอง และใช้งานกับทางจังหวัดซึ่งทางอุตสาหกรรมจังหวัดก็จะมีการรับรองปริมาณของแต่ละบริษัทว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร จากนั้นก็จะผ่านขั้นตอนกลั่นกรองจากนายทะเบียนท้องที่ คณะกรรมการของจังหวัด ก่อนที่ส่งเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่ออนุมัติทำการสั่งซื้อ หรือการขนย้าย
ส่วนการเก็บรักษาวัตถุระเบิดนั้น จะต่างจากประทัดและดอกไม้เพลิง ซึ่งวัตถุระเบิดได้มีการออกกฎหมายอย่างชัดเจนว่า “สถานที่จะต้องใช้ในการเก็บส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสถานที่ราชการ คลังเก็บของวัตถุระเบิดในค่ายทหาร หรือของตำรวจตระเวนชายแดน” และเมื่อมีการเบิกไปใช้ จะต้องมีการแจ้งให้อำเภอทราบทุกครั้ง เพื่อจัดเจ้าหน้าที่ร่วมตรวจนับวัตถุระเบิดกับเจ้าหน้าที่ทหารก่อนนำออกไปใช้ทุกครั้งอย่างเคร่งครัด.