รังนกพัทลุงวุ่นหนัก ลุ้นประมูลรอบที่ 3 นายก อบจ.ค้านราคากลางกลัวนายทุนฮั้วกัน

หมวดหมู่ : พัทลุง, ทั่วไป,

อ่าน : 1,300
คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง ประมูลรังนก คณะกรรมการรังนกอีแอ่น กำหนดราคากลาง
รังนกพัทลุงวุ่นหนัก ลุ้นประมูลรอบที่ 3 นายก อบจ.ค้านราคากลางกลัวนายทุนฮั้วกัน

        ตามที่คณะกรรมการรังนกอีแอ่น จ.พัทลุง ได้ประกาศให้สัมปทานรังนกฯ เป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2564 - 14 มิถุนายน 2569 ในราคากลาง 500 ล้านบาท หลังจากที่สัญญาเดิมได้เสร็จสิ้นลงในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 แต่ไม่มีผู้เข้ามาซื้อซองเอกสารการประมูลฯ ครั้งที่ 1 ต่อมาคณะกรรมการรังนกฯ ได้เปิดขายซองเอกสารฯ ครั้งที่ 2 ในราคากลาง 500 ล้านบาท เหมือนครั้งที่ 1 ปรากฏว่ามีผู้เข้ามาซื้อซองเอกสารเพียง 1 ราย แต่ถึงวันยื่นซอง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ผู้ซื้อซองดังกล่าวไม่ได้เข้ามายื่นซองประมูลรังนกฯ แต่อย่างใด

        ต่อมา นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พัทลุง ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดราคากลาง ได้เป็นประธานคณะกรรมการชุด และร่วมกันกำหนดราคากลางออกเป็น 2 แนวทาง คือ ราคากลาง 450 ล้านบาท และราคากลาง 475 ล้านบาท และให้ตัดสัญญาแนบท้ายออกไป ซึ่งเป็นเงินรวมกันประมาณ 8 ล้านบาทเศษ ในที่ประชุมได้มีมติให้กำหนดราคากลางการประมูลรังนกฯไว้ที่ราคา 450 ล้านบาท โดยกำหนดการขายซองในวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 - วันที่ 2 มิถุนายน 2564 และยื่นซองในวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ระหว่างเวลา 09.00 -11.00 น. และเปิดซองการประมูลในวันที่ 4 มิถุนายน 2564 เวลา 12.00 น. ณ หอประชุมจังหวัดพัทลุง บริเวณศาลากลางจังหวัดพัทลุง จึงเป็นี่จับตาของชาวพัทลุงว่า จนถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2564 จะมีผู้มาขอซื้อซองประมูลกี่ราย

        ขณะเดียวกันได้มีความเคลื่อนไหวของ อบจ.พัทลุง เกี่ยวกับราคากลาง 450 ล้านบาท ที่มกำหนดใหม่ เนื่องจากบางส่วนไม่เห็นด้วยที่ลดราคาจาก 500 ล้านบาท ลงมาเหลือ 450 ล้านบาท โดยเมื่อบ่ายวันที่ 28 พ.ค.2564 นายวิสุทธิ์  ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง นายสุพัฒน์ ชาตรี ประธานสภา อบจ.พัทลุง และ นายเกลื่อม พูลสง ประธานกลุ่มพิทักษ์ผลประโยชน์ประชาชนพัทลุง พร้อมด้วย ส.อบจ.พัทลุง ตัวแทนผู้บริหารอปท.จังหวัดพัทลุง ได้นำหนังสือเข้ายื่นต่อ นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง เพื่อให้คณะกรรมการรังนกฯ ได้พิจารณาทบทวนมติที่ประชุมฯ ในกรณีที่กำหนดราคากลางเป็น 450 ล้านบาท ทั้งนี้จากการประชุมสภา อบจ.พัทลุง และตัวแทนผู้นำอปท.ทั่วทั้งจังหวัด ได้มีมติร่วมกันว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา รังนกขาวที่ราคาการซื้อขายในราคา ก.ก.ละ 60,000 บาท ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 3,200 กิโลกรัม จึงเห็นว่าราคากลางการประมูลน่าจะอยู่ในราคา 475 ล้านบาท เพื่อจะได้นำเงินดังกล่าวไปพัฒนาท้องถิ่นกันมากขึ้นกว่าเดิม

        ด้าน นายกู้เกียรติฯ เผยว่า การกำหนดราคากลางเป็นมติของคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง เมื่อได้รับหนังสือดังกล่าวจะต้องไปดูรายละเอียดของ พรบ.รังนกฯ พ.ศ.2540 ว่า ขอบข่ายและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ มีอย่างไรบ้าง จะประชุมกำหนดราคากลางรังนกฯตามข้อเรียกร้องของตัวแทนประชาชนได้หรือไม่ ต้องดูที่รายละเอียดของ พรบ.ฯ ว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนกรณีที่คณะกรรมการฯ ได้มีมติกำหนดราคากลางที่ 450 ล้านบาทนั้น เพราะเกรงว่าหากสัญญาว่างลง จะนำไปสู่การลักขโมยและปล้นรังนกในที่สุด ซึ่งใน 5 ปีที่ผ่านมาทางจังหวัดฯ ได้ใช้เงินของ อบจ.พัทลุง ในการเฝ้ารังนกฯ ไปมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ยังมีการลักรังนกกันทั้ง 7 ถ้ำ จนทำให้รังนกได้รับความเสียหาย

        ผู้สื่อข่าวถามถึงการประชุมที่ไม่ได้ยกมือหรือลงคะแนนเสียงเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ นายกู้เกียรติฯ ตอบว่า ในการประชุมคณะกรรมการรังนกฯ ในครั้งที่ผ่านมาไม่เคยยกมือลงคะแนนเสียง ในที่ประชุมจะใช้การแสดงความคิดเห็นของแต่ละคนในการประชุม และจดบันทึกในวาระการประชุมซึ่งสามารถตรวจสอบได้ จากนั้นจะนำความคิดเห็นของคณะกรรมการแต่ละคนมาสรุปเป็นมติที่ประชุม ซึ่งตนไม่ได้ใช้วิธีการรวบรัดหรือใช้ความคิดเห็นส่วนตัวในการกำหนดมติที่ประชุมแต่อย่างใด

        ส่วนการประชุมสภา อบจ.พัทลุง มี นายวิสุทธิ์ เป็นประธานในการประชุม ส.อบจ. และตัวแทน อปท. เพื่อระดมความคิดเห็นในการปกป้องผลประโยชน์ของชาวพัทลุง ในที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย นายเกลื่อม พูลสง ประธานกลุ่มพิทักษ์ผลประโยชน์ประชาชนพัทลุง ได้กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้มีบริษัทประมูลรังนก 5 บริษัท การที่ไม่มีการซื้อซองเอกสารในครั้งนี้นั้นน่าจะมาจากการฮั้วประมูลของบริษัทบางบริษัท จนทำให้มูลค่าราคากลางตกต่ำลงในที่สุด การออกมาพูดถึงรังนกส่งออกไม่ได้นั้นเป็นเพียงกลยุทธ์ของบริษัทรังนก ซึ่งอาจจะนำไปสู่การประมูลรังนกฯ ด้วยกรณีพิเศษจนนำไปสู่การฮั้วประมูลกันในที่สุด

        นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ตนและสมาชิกสภาจังหวัดทุกคน รวมทั้งผู้นำ อปท.ทั่วทั้งจังหวัดจะเดินหน้าปกป้องผลประโยชน์ของชาวพัทลุงจากการประมูลรังนกฯ ให้ถึงที่สุด โดยได้ทำสำเร็จมาแล้วในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จากราคากลาง 275 ล้านบาท ไปเป็นราคากลาง 405 ล้านบาท จนมีการประมูลรังนกฯด้วยราคา 450 ล้านบาทในที่สุด พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้ ผวจ.พัทลุงได้ดำเนินการประมูลรังนกฯ ด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรม เพื่อผลประโยชน์ของท้องถิ่นจังหวัดพัทลุง ส่วนจะนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลสถิตยุติธรรมหรือไม่ก็ต้องพิจารณากันต่อไป และหากว่าการประมูลรังนกฯ เป็นการประมูลด้วยกรณีพิเศษ อันเป็นการเปิดทางการฮั้วประมูลของกลุ่มบริษัทรังนกบางบริษัท จนนำไปสู่การสูญเสียผลประโยชน์ของชาวพัทลุง จะมีตัวแทนพี่น้องประชาชนทั่วทั้งจังหวัดมาทวงถามความถูกต้อง ความเที่ยงธรรม จากคณะกรรมการรังนกฯ ณ บริเวณศาลากลางจังหวัดฯ เหมือน 5 ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

        หลังจากได้รับหนังสือร้องเรียนแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2564 นายกู้เกียรติ ผวจ.พัทลุง ได้เป็นประธานคณะกรรมการรังนกฯ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหนังสือร้องเรียนของนายวิสุทธิ์และพวก ในที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการประชุมกำหนดราคากลางของคณะกรรมการรังนกฯ เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย จึงไม่ต้องลงมติกันใหม่ และมีมติเห็นชอบในการทบทวนการกำหนดราคากลาง 450 ล้านบาท ตามข้อเรียกร้องของนายวิสุทธิ์ฯ นายก อบจ.พัทลุง และพวก ในตอนบ่ายวันที่ 4 มิถุนายน 2564 โดยจะเชิญนายวิสุทธิ์ฯ และตัวแทนบริษัทรังนกฯ นำเอกสาร หลักฐาน วัตถุพยาน มาชี้แจงในที่ประชุมเพื่อนำไปสู่การพิจารณาราคากลางในครั้งต่อไปตามข้อเสนอแนะของ นายสาธร พูลสวัสดิ์ อัยการจังหวัดพัทลุง ทั้งนี้เพื่อให้การประมูลรังนกฯ เป็นไปด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรม เพื่อความสบายใจตามหลักรัฐศาสตร์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเป็นการปฏิบัติตามมาตรา 13 ของ พรบ.รังนกอีแอ่นฯ พ.ศ. 2540

        ด้าน นายกู้เกียรติฯ กล่าวในที่ประชุมว่า ตนขอยืนยันว่าไม่เคยมีใครมาพูดคุยกับตนเรื่องการประมูลรังนกฯ แม้แต่ครั้งเดียว และตนกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องก็ตกเป็นจำเลยของสังคมในที่สุด หาก พรบ.รังนกฯ ไม่ระบุไว้ตนมั่นใจว่าใครๆ ก็ไม่อยากเข้ามานั่งในตำแหน่งของคณะกรรมการรังนก เหมือนมีบ้าน มีทรัพย์สินในบ้าน แต่ไม่มีคนมาเช่าบ้าน และต้องมารับผิดชอบหาคนมาเฝ้าบ้าน และตนขอยืนยันว่าจะไม่มีการประมูลรังนกฯ ด้วยกรณีพิเศษโดยเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย โดยจะมีการประชุมกำหนดราคากลางไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รับการสัมปทาน ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหาการลักและปล้นรังนกไว้แล้ว พร้อมกันนั้นก็จะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการรังนกฯด้วย เพื่อให้มีการประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนกันอย่างทั่วถึง

        ผู้สื่อข่าวได้สอบถามผู้บริหารบริษัทรังนกฯ แห่งหนึ่ง เปิดเผยว่าสถานการณ์รังนกอีแอ่นไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันส่งออกรังนกถ้ำไปประเทศที่มีความต้องการสูงไม่ได้ คือ ประเทศจีน ทำให้ฐานลูกค้าสำคัญหายไป สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผู้่ส่งออกที่ประเทศอินโดนีเซีย มีการย้อมสีรังนกเป็นสีชมพูเพื่อหลอกขายในราคาสูง ทางการจีนจับได้จึงสั่งห้ามนำเข้ารังนกถ้ำจากอินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย ต่อมารังนกบ้านเริ่มเป็นที่นิยม จึงมีการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์และหาทางส่งออกไปจีนและประเทศต่างๆ ได้ ขณะที่รังนกถ้ำยังถูกสั่งห้ามไปขาย รัฐบาลไทยและกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็ไม่สนใจเข้ามาช่วยเหลือ ประเทศมาเลเซียรัฐบาลเข้าไปเจรจาจนเข้าได้แล้ว อินโดนีเซียก็ส่งรังนกบ้านไปได้แล้ว มีแต่ประเทศไทยที่ไม่มีหน่วยงานใดช่วยเหลือ โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ยังไม่ช่วยเหลือในการรับรองรังนกถ้ำของไทยเลย หาก อบจ.แต่ละจังหวัดผลักดันหน่วยงานรัฐช่วยให้รังนกถ้ำไทยส่งออกไปจีนได้ เชื่อว่าคงมีการแย่งประมูลในราคาสูง.