วิจัยกรุงศรีชี้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยในปี 2567 ฟื้นตัวท่ามกลางความไม่แน่นอน
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 23 ก.พ. 2567, 16:42 น. อ่าน : 491 กรุงเทพฯ -
วิจัยกรุงศรี โดย ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) แถลงภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2567
มีแนวโน้มเติบโตต่ำใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 3.1%
พร้อมปรับคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 2.7%
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียน-5 ยังเติบโตดีต่อเนื่องอยู่ที่ 4.7%
เศรษฐกิจโลกในปี
2567 มีแนวโน้มเติบโตต่ำใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 3.1%
ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีในช่วงก่อนโควิด-19 ที่เฉลี่ยราว
3.7% เนื่องจากผลเชิงบวกจากการเปิดประเทศและมาตรการกระตุ้นช่วงโควิด-19
จะทยอยหมดลง ขณะที่ผลเชิงลบจากหลายปัจจัยอาจบั่นทอนการเติบโต
ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความเสี่ยงต่อภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจในยุโรป ภาวะภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ (El
Niño) สงครามรัสเซีย-ยูเครนและความตึงเครียดในตะวันออกกลาง
การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจซึ่งนำโดยสหรัฐฯ และจีน
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก
และอาจทำให้กระแสโลกาภิวัตน์ที่แตกเป็นเสี่ยงเสี้ยว(Fragmented
Globalization) สร้างแรงกระเพื่อมต่อการค้าและการลงทุนทั่วโลก
นอกจากนี้ การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงในหลายประเทศในช่วงปี 2566-2567
จะกระทบต้นทุนและภาระหนี้ของภาครัฐและเอกชน ดังนั้น
โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงที่จะซบเซา
อย่างไรก็ตามแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มบรรเทาลงในปี 2567
จะช่วยเปิดทางให้ประเทศแกนหลักสามารถปรับลดดอกเบี้ยเพื่อประคองมิให้เศรษฐกิจอ่อนแอยาวนาน
สำหรับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตตามวัฎจักรเศรษฐกิจ
แม้การฟื้นตัวจะยังไม่กระจายตัวและยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าจะขยายตัวที่
2.7% ในปี 2567 เร่งขึ้นจาก 1.9% ในปี 2566
ด้วยแรงส่งส่วนใหญ่จากปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ 1) การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐและความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น
โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นจาก 28.2 ล้านคนในปี 2566 เป็น
35.6 ล้านคนในปี 2567 แม้จะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิดที่ 40
ล้านคน 2) การบริโภคภาคเอกชนยังคงเติบโตต่อเนื่องที่ 3.1%
แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น
กอปรกับยังมีผลเชิงบวกจากนโยบายของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย
3) การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส
2 ของปี 2567 หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท
(เพิ่มขึ้น 9.3% จากปีงบฯ ก่อน) ได้รับอนุมัติ
ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวที่ 1.5% และ 2.4% ตามลำดับ
จากที่หดตัวในปี 2566 และ 4) การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโต
3.3% ตามการเติบโตของภาคบริการ และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
รวมทั้งนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสำคัญๆ อย่างไรก็ตาม
ภาคส่งออกยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่ำเนื่องจากยังเผชิญแรงกดดันจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
แม้อาจมีปัจจัยเฉพาะที่หนุนการส่งออกในบางกลุ่ม เช่น
วัฏจักรการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
อานิสงส์จากการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหาร และความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค
(Regionalization) เป็นต้น
โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวเพียง 2.5% ในปี 2567 จากที่หดตัว -1.7%
ในปีก่อนหน้า
แม้เศรษฐกิจโดยรวมทยอยฟื้นตัว
แต่อัตราการเติบโตยังคงมีแนวโน้มต่ำกว่าระดับ 3%
ต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2567
คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ 1.1% ชะลอลงเล็กน้อยจาก 1.2% ในปีก่อน
ปัจจัยดังกล่าวเพิ่มโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นไป
เพื่อสนับสนุนให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง
โดยภาพรวมแล้ว
เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะมีแนวโน้มปรับดีขึ้น
แต่อัตราการเติบโตยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน
สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่อาจกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ได้แก่
ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น
ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ประชากรสูงวัย
การขาดแคลนแรงงาน และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม
ส่วนปัจจัยภายนอกที่อาจสร้างความเสี่ยงในปี 2567 ได้แก่
ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศแกนหลักของโลกที่สูงสุดในรอบกว่าสองทศวรรษอาจกดดันเศรษฐกิจโลกและภาคการเงิน
การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนท่ามกลางความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์
การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน
รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้างในระยะต่อไป
แนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนในปี 2567
สำหรับปี 2567
คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียน-5 จะอยู่ที่ 4.7%
เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวประมาณ 4.2%
โดยอุปสงค์ภายในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
กอปรกับการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวเล็กน้อยตามการคลี่คลายของภาวะชะงักงันด้านอุปทาน
กำลังซื้อที่กระเตื้องขึ้นจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง
และแรงกดดันจากสภาวะทางการเงินตึงตัวที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
อย่างไรก็ตามความท้าทายต่อเศรษฐกิจภูมิภาคที่สำคัญ ได้แก่
ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก อาทิ เศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
และปรากฏการณ์เอลนีโญ่
ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเพิ่มความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มการเติบโตของภูมิภาคผ่านช่องทางทั้งภาคการเงินและการค้า
นอกจากนี้ นโยบายการคลังจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
เพื่อรองรับความท้าทายด้านอุปทานที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้น สำหรับนโยบายการเงิน
อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง
และความเสี่ยงเงินเฟ้อจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวน
อาจทำให้ธนาคารกลางในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้จนถึงกลางปี
2567.
ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)