สงขลาปรับโฉมใหม่จุดเช็คอิน “แมว-หนูมินิมอล” ริมหาดชลาทัศน์

หมวดหมู่ : สงขลา, ไลฟ์สไตล์-บันเทิง, ท่องเที่ยว,

อ่าน : 250
สงขลาปรับโฉมใหม่จุดเช็คอิน “แมว-หนูมินิมอล” ริมหาดชลาทัศน์

สงขลา-จุดเช็คอิน “ประติมากรรมหนู-แมวมินิมอล” ปรับโฉมใหม่ ในธีม Innovation for Diversity นวัตกรรมสู่ความหลากหลายทางเพศ มุ่งดึงนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมายังจังหวัดสงขลา สร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ริมหาดชลาทัศน์  

         เมื่อวันทึ่ 26 มีนาคม 2568 เวลา 11.00 น. นายวิทยา จันทน์เสนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดโฉมใหม่ “ประติมากรรมหนู-แมวมินิมอล” หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “พี่เถ้าคั่ว-น้องส้มโหนด”  ที่ริมหาดชลาทัศน์ อ.เมืองสงขลา จ.สงขลาปีนี้มาในธีม “Innovation for Diversity”  โดยมีนายวันชัย  ปริญญาศิริ นายกเทศมนตรีนครสงขลา นายพิชัย อนวัชรพันธ์ ผู้จัดการศูนย์เศรษฐพัฒน์ บริษัทเชฟรอนประเทศ ไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผศ. อุดร นามเสน รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นายรังษี รัตนปราการ นายกภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม ภาคเอกชน ตลอดจนคณาจารย์ นักเรียน นักศึกษาเข้าร่วม

          นานวิทยา เปิดเผยว่า ประติมากรรมหนูแมวมินิมอลนี้ สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจะได้มีจุดเช็คอินอีกจุดหนึ่ง ณ หาดชลาทัศน์ โดยมีหัวใจหลักคือทางบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับคณาจารย์และนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย รวมไปถึงเครือข่ายอีกหลายองค์กร ที่ได้ผลักดันพื้นที่ให้เป็นที่รู้จัก และมีการปรับเปลี่ยนธีมของประติมากรรมไปตามเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งสร้างความน่าสนในได้เป็นอย่างดี 

          ด้านนายพิชัย อนวัชรพันธ์ ผู้จัดการศูนย์เศรษฐพัฒน์ บริษัทเชฟรอนประเทศ ไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เชฟรอนได้ทำงานใกล้ชิดกับเครือข่ายสถาปนิกสร้างสรรค์ทักษิณ ในการจัดกิจกรรมประจำปี ณ ลานประติมากรรมหนูแมวมินิมอลโดยในปีนี้จัดขึ้นในธีม “Innovation for Diversity” นวัตกรรมสู่ความหลากหลาย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลา และถือโอกาสส่งมอบเป็นของขวัญในเทศกาลปีใหม่ไทยประจำปี พ.ศ.2568 ด้วย

           ส่วนศิลปินผู้ออกแบบ เปิดเผยถึง Concept ประติมากรรมหนู-แมวปีนี้ ว่า เนื่องจาก ปี พ.ศ. 2568 เป็นปีที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดย พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม มอบสิทธิให้กับบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ว่าเพศใดสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย เป็นสิ่งที่น่ายินดีสำหรับชาว LGBTQ+ ทีมออกแบบโดย อาจารย์หลักสูตรฯ ทัศนศิลป์ สาขาศิลปกรรมและออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย จึงนำเรื่องราวดังกล่าวมาเป็นแรงบันดาลใจในการกำหนดแนวคิดในการออกแบบลวดลายเพื่อสร้างสรรค์ลงบนประติมากรรมหนู-แมว  โดยมีทีมผู้ออกแบบรูปร่างต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่ ได้ใช้สีสันจากสายรุ้งเป็นสัญลักษณ์สากลของชาว LGBTQ+  และลักษณะของสติกเกอร์รูปสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่แสดงถึงการมอบความสุขและการให้ความสำคัญแก่ผู้ที่ได้พบเห็นอีกด้วย.