สช. จับมือภาคีดันกฎหมายกำกับดูแลอีสปอร์ต คุ้มครองเด็ก-เยาวชน

หมวดหมู่ : ทั่วไป,

อ่าน : 688
สช. อีสปอร์ต สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กฎหมายกำกับดูแลอีสปอร์ต
สช. จับมือภาคีดันกฎหมายกำกับดูแลอีสปอร์ต คุ้มครองเด็ก-เยาวชน

        มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มุ่งปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากโลกโซเชียลมีเดียอย่างไร้การควบคุม มีการแข่งขันเกมออนไลน์ หรือ อีสปอร์ต ที่ขาดกฎหมายในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง ส่งผลด้านลบต่อสุขภาวะและเพิ่มปัญหาสังคม

        สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อร่างกฎหมายการกำกับดูแลเกมและการประกอบกิจการเกมเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน พ.ศ....ซึ่งเป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 โดยมี ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก ประธานคณะทำงานติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านเด็กกับสื่อ เป็นประธาน และ ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการ คสช. เปิดประชุมและร่วมฟังความคิดเห็น

        ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนกำลังประสบปัญหาด้านสุขภาวะจากการติดเกมหรืออีสปอร์ตอย่างมาก ผลสำรวจเผยว่าเด็กเข้าสู่กิจกรรมอีสปอร์ตอย่างขาดความเข้าใจ หรือฝึกซ้อมเล่นเกมเป็นเวลานานติดต่อกันหลายชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเสพติดเกม เสพติดความรุนแรง ขาดการวิเคราะห์และควบคุมตนเอง ส่งผลต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง ก้าวร้าว มีปัญหาทางด้านความจำ และเสียสุขภาพจิตในระยะยาว โดยผลวิจัยพบว่าร้อยละ 42.82 ของกลุ่มสำรวจมีอาการติดเกมอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 35.64 มีการทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือออกกำลังกายลดลง และอีกกว่าร้อยละ 27.33 มีความก้าวร้าว ใช้ความรุนแรงและหยาบคาย

        ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก ประธานคณะทำงานติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านเด็กกับสื่อ กล่าวถึงกิจกรรมอีสปอร์ตว่า การแข่งขันวิดีโอเกมเพื่อชิงรางวัล ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในหมู่เยาวชนทั้งในและต่างประเทศ มีผู้ประกอบการไทยได้จัดให้มีการแข่งขันกันอย่างกว้างขวางในทุกระดับ มีการโฆษณาเชิญชวนหลายรูปแบบอย่างไร้การควบคุม โดยการแข่งขันเกือบทั้งหมดไม่ได้ผ่านการรับรองจากสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยหรือการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเกิดการพนันแฝงมากับเกมมากมายหลายรูปแบบและเปิดเผย จึงเป็นข้อถกเถียงกันในวงกว้างว่ากิจกรรมอีสปอร์ตเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียต่อสุขภาพกาย ใจ สังคม ปัญญา และจิตวิญญาณในด้านต่างๆ อย่างไร

        ดร.ธีรารัตน์ เปิดเผยต่อว่า จากผลสำรวจพบว่า กว่าร้อยละ 52.78 ของกลุ่มตัวอย่าง เข้าไปร่วมกิจกรรมอีสปอร์ตเพราะผู้ประกอบการใช้สื่อโฆษณาเชิญชวนที่มีภาพและเสียงน่าตื่นเต้นเร้าใจสร้างความดึงดูดให้ร่วมเล่นกิจกรรม โดยอีกร้อยละ 26.96 สนใจเข้าเล่นเพราะมีโปรโมชั่น ลดแลกแจกแถม หรือผ่อนชำระ ทำให้เกิดการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมได้รวดเร็วและง่ายดาย

        นายปกรณ์ ธรรมโรจน์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และ ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช คณะวิจัยและยกร่างกฎหมายการกำกับดูแลเกมและการประกอบกิจการเกมเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน พ.ศ.... เปิดเผยว่าจากปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนดังกล่าว และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 พ.ศ. 2561 นำไปสู่การศึกษาวิจัยและยกร่างกฎหมายดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิจารณา หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการเสนอและออกเป็นกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน

        นายปกรณ์ ธรรมโรจน์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยต่อว่า ร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนี้ ประกอบด้วยบทบัญญัติเกี่ยวกับลักษณะของเกม การประกอบกิจการเกม การแข่งขันเกม หน้าที่ของสถาบันการศึกษา และกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการพนัน “ร่างกฎหมายนี้มุ่งปกป้องและคุ้มครองผู้ที่ได้รับผล กระทบจากธุรกิจเกมออนไลน์ การแข่งขันอีสปอร์ต รวมถึงการพนันในเกมออนไลน์ ที่กำลังเป็นปัญหาอย่างยิ่งในปัจจุบัน” อัยการปกรณ์ ธรรมโรจน์ กล่าว.


อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :