สมาคม อบจ.รุกคืบ มท. ยื่น 4 ข้อ ขอจัดซื้อวัคซีนโควิด-19

หมวดหมู่ : กระบี่,

อ่าน : 719
นายกสมาคม อบจ.
สมาคม อบจ.รุกคืบ มท. ยื่น 4 ข้อ ขอจัดซื้อวัคซีนโควิด-19

กระบี่-นายกสมาคม อบจ. เดินหน้ารุกหนัก ยื่น 4 ข้อถามกระทรวงมหาดไทย ตอบให้ชัดปมจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 เพื่อดูแลคนในจังหวัดของตัวเอง เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง เอื้อให้จัดซื้อได้

        นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายก อบจ.กระบี่ ในฐานะนายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย แถลงเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2564 กรณีกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น สั่งการ อปท.ทั่วประเทศ ไม่ให้จัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ในระยะแรกนี้ว่า เนื่องจากขณะนี้ได้มี อบจ.หลายจังหวัด หารือมายังสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางปฎิบัติในการจัดหาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยที่ไม่ขัดต่อข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพราะก่อนหน้านี้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มีหนังสือด่วนที่สุด ถึง ผวจ.ทุกจังหวัด ให้แจ้ง อปท.ทั่วประเทศ โดยอ้างถึงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่แจ้งมายังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย ว่า อปท.ไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชาชนได้ รวมทั้งหนังสือสั่งการฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันและรักษา รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชน ในกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ก่อให้เกิดความสับสนในแนวทางปฎิบัติกับ อปท.ทั่วประเทศเป็นอย่างยิ่ง

        ทางสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย พิจารณาแล้วเห็นว่ากฎหมายและระเบียบหลายฉบับ ได้ให้ อบจ. มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรค ดังนี้ 1.กฎกระทรวง พ.ศ.2541 ออกตามความใน พ.ร.บ.อบจ. พ.ศ.2540 (14) เรื่องการป้องกันและบำบัดรักษาโรค 2.พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 อบจ.มีอำนาจหน้าที่ (19) ในการจัดให้มีโรงพยาบาลจังหวัด การรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ 3.แผนปฎิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ฉบับที่ 2 ด้านที่ 2 งานส่งเสริมคุณภาพชีวิต ข้อ 2.4 แผนภารกิจด้านสาธารณสุข 2.4.1 (1) การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการรักษาพยาบาลเบื้องต้น และ 4.ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามอํานาจหน้าที่ของ อปท.พ.ศ.2560 หมวด 5 การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ข้อ 13, 14 และ 15

        นายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า สำหรับวิธีดำเนินการนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน และยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตรงกัน และไม่เกิดปัญหากับหน่วยตรวจสอบในอนาคต ทางสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย จึงมีหนังสือหารือไปยังมหาดไทย เพื่อสอบถามถึงแนวทางปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4 เรื่อง ดังนี้ 1.กรณีที่ อบจ.จะดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ของจังหวัดตัวเองต้องดำเนินการอย่างไร 2.กรณีที่ อบจ.ร่วมมือกับ อปท.อื่นๆ ดำเนินการจัดหาวัคซีน เพื่อฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ของจังหวัดตัวเอง ต้องดำเนินการอย่างไร 3.กรณีที่ อบจ.ร่วมมือกับหรือหน่วยงานของรัฐ ในการดำเนินการจัดหาวัคซีน เพื่อฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ของจังหวัดตัวเอง ต้องดำเนินการอย่างไร และ 4.กรณีอื่นๆ ที่ อบจ.สามารถดำเนินการได้

        ”เมื่อได้คำตอบที่ชัดเจนแล้ว อบจ.ไหน จะใช้วิธีดำเนินการจัดหาวัคซีนแบบใด ก็ขึ้นอยู่กับบริบทและดุลยพินิจของผู้บริหารแต่ละ อบจ. สิ่งที่อยากจะฝากอีกเรื่องคือ เนื่องจากสถานะทางการคลังรวมถึงรายได้ของแต่ละ อบจ.มีไม่เท่ากัน บาง อบจ.มีรายได้มาก มีเงินสะสมมากก็สามารถที่จะดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ส่วน อบจ.เล็กๆที่ มีรายได้น้อยมีเงินสะสมน้อย จะทำอย่างไร ยิ่งช่วงนี้รายได้ของ อบจ.ลดลงทั้งในส่วนของเงินอุดหนุน และการจัดเก็บภาษีทุกประเภทลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และเชื่อว่าหลังจากนี้ถ้ามีบาง อบจ.ใช้งบประมาณดำเนินการได้ แต่อีกหลาย อบจ.ไม่มีงบประมาณที่จะดำเนินการ ก็จะเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนแต่ละจังหวัด ซึ่งก็ต้องฝากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย”นายสมศักดิ์กล่าว.



อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :