สมเด็จเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ทรงติดตามโครงการ ”ราชทัณฑ์ปันสุข” ที่เบตง
หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, ยะลา, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 4 ธ.ค. 2565, 23:00 น. อ่าน : 553ยะลา-สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จทรงเยี่ยมเรือนจำอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2565 เวลา 13.45 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จทรงเยี่ยมเรือนจําอําเภอเบตง ตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ณ เรือนจําอําเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยมีนายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายพิเชษฐ โตประสิทธิ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดยะลา พลโทศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 พลตำรวจโทนันทเดช ย้อยนวล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 พลตํารวจตรี เสกสันต์ ชูรังสฤษฎิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา นางกรณิศ สุขการ ผู้อํานวยการท่าอากาศยานเบตง พร้อมข้าราชการ เฝ้ารับเสด็จ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง อําเภอเบตง จังหวัดยะลา
จากนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จไปทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ณ เรือนจำอําเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยมีนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และหัวหน้าหน่วยงานในจังหวัดยะลา ตลอดจนประชาชน เฝ้ารับเสด็จ
โอกาสนี้เสด็จฯไปยังบริเวณหน้าสถานพยาบาล ทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้าย “มุมสุขภาพ ราชทัณฑ์ปันสุข" ทอดพระเนตรภายใน “มุมสุขภาพราชทัณฑ์ปันสุข ” ห้องทันตกรรม/ครุภัณฑ์พระราชทาน ทรงมีพระปฏิสันถารกับผู้ต้องขังหญิง ถึงปัญหาและความต้องการ ทรงเยี่ยมผู้ต้องขังที่ป่วย พร้อมทั้งพระราชทานถุงพระราชทาน แก่ผู้ต้องขังก่อนเสด็จกลับ
ทั้งนี้เรือนจำอําเภอเบตง จังหวัดยะลา มีผู้ต้องขังหญิง จำนวน 36 คน ผู้ต้องขังชาย จำนวน 239 คน เด็กติดผู้ต้องขัง 1 คน และกักขังชาย 1 ซึ่งผู้ต้องขังทั้งหมดต่างได้รับบริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน
สำหรับโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์ อันกว้างไกล โดยทรงเห็นว่าสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดีนั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่เว้นแม้แต่ผู้ต้องขัง ซึ่งก็คือประชาชนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ทรงเห็นว่าการเข้าถึงบริการทางการแพทย์การพยาบาล รวมไปถึงการได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง เป็นสิทธิของผู้ต้องขังที่ควรได้รับ เท่าเทียมกับบุคคลภายนอกตามหลักมนุษยธรรมข้อจำกัดในด้านการได้รับความรู้ด้านสุขอนามัยตลอดจนการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของผู้ต้องขังจึงมีความสำคัญที่จะต้องพิจารณาปรับปรุง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ริเริ่มโครงการราชทัณฑ์ปันสุขทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ขึ้น เพื่อเป็นการเติมเต็มสิทธิของผู้ต้องขังให้ได้รับบริการทางสุขภาพ เฉกเช่นประชาชนทั่วไป.