“สรรเพชญ”หนุน พ.ร.ก.ปราบมิจฉาชีพออนไลน์ เป็นภัยร้ายแรง
หมวดหมู่ : กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 3 ส.ค. 2566, 21:30 น. อ่าน : 456กรุงเทพฯ- “สรรเพชญ” สนับสนุน พ.ร.ก.ปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ เรียกร้องสภาให้ความเห็นชอบ เพราะเป็นปัญหาร้ายแรง คุกคามความเดือดร้อนของประชาชนรอไม่ได้
เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 66 ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ ห้องประชุมสุริยัน อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญบุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายแสดงความเห็นต่อ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยนายสรรเพชญฯ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับพระราชกำหนดฉบับนี้ เนื่องจากเป็นปัญหาความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับผลกระทบกันเป็นจำนวนมากสร้างความเสียหายให้กับประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศมูลค่ามหาศาล อีกทั้งพระราชกำหนดฉบับนี้ ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยของสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ที่กำลังประสบกับปัญหาที่เกิดขึ้นท่ามกลางโลกไร้พรมแดน
นายสรรเพชญ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพฤติกรรมของขบวนการนี้ มีความพยายามที่จะทำให้กระบวนการในการจับกุม และสอบสวนซับซ้อนมากยิ่งขึ้น รวมถึงใช้วิธีการต่าง ๆ ที่จะหลอกล่อ ขู่เข็ญให้ประชาชนหลงเชื่อและตกใจกลัวด้วยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลเครดิตต่าง ๆ จนหลงเชื่อและต้องสูญเสียทรัพย์สิน เมื่อมิจฉาชีพเหล่านี้ได้รับเงินจากผู้เสียหายแล้วก็จะมีการโอนต่อกันเป็นทอด ๆ ผ่านบัญชีม้า ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำงานยากมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นภัยร้ายแรงที่กำลังคุกคามสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน
นอกจากนี้นายสรรเพชญ ยังได้กล่าวให้กำลังใจไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ที่กำลังปฏิบัติงานเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในขณะนี้ รวมถึงได้ตั้งข้อสังเกตในโครงสร้างของคณะกรรมการว่า ให้ควรมีภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย รวมถึงหากเป็นไปได้อยากให้มีนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ แต่มีความชำนาญทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาร่วมทำงานด้วยเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
ตอนท้าย นายสรรเพชญกล่าวว่า ปัญหาของประชาชนในขณะนี้รอไม่ได้แล้ว การมีพระราชกำหนดฯ นี้จะเป็นเกราะป้องกันและช่วยเหลือประชาชน ซึ่งหากสมาชิกท่านอื่น ๆ มีความเห็นว่าสมควรแก้ก็ค่อยยื่นร่างฉบับแก้ไขกลับเข้ามา เพื่อให้กฎหมายบังคับใช้ต่อไปได้.